คุณรู้จัก “หัวหิน”…เลยออกไปอีกนิดคุณก็อาจจะรู้จัก “เขาตะเกียบ” จากนั้นไปอีกไม่ไกลคุณก็รู้จัก “อุทยานราชภักดิ์” …แต่อีกไม่ไกลจากนั้น คุณรู้จัก “เขาเต่า” ไหมครับ?

 

จากนี้ไปคุณจะรู้จักและเห็นภาพของ “อ่างเก็บน้ำเขาเต่า” และคุณจะได้รู้ด้วยว่า นี่คือโครงการอ่างเก็บน้ำในพระราชดำริ “แห่งแรก” ของเมืองไทย เป็นปฐมบททางด้านการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในพระมหาราชของปวงชนชาวไทยยุคนี้

“…เขาเต่านั้นนะ เราเข้าไปปี ๙๖ เข้าไปกับรถจี๊ปโปโล ไปจมเลนในตะกาด เป็นที่ที่น้ำทะเลขึ้นมาแล้ว ถึงเวลาน้ำลงมันก็เป็นเลน อะไรก็ขึ้นไม่ได้ มีแต่ปูเปี้ยว ทำอะไรไม่ได้ …”

“…ก็เริ่มโครงการเขาเต่า  ถ้าเราปิดตรงเขาเต่าน้ำฝนตกลงมาก็จะเป็นบึง เป็นอ่างเก็บน้ำให้ได้ นานไปก็จะทำประโยชน์ได้…”

(ตะกาด : ที่ดินซึ่งอยู่หลังหาดชายทะเลขึ้นไป แต่มีนํ้าเค็มซึมขึ้นไปถึงได้)

เพียงแค่เรานึกย้อนไปถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๖ … ๖๔ ปีก่อนหน้านี้ แม้จะทรงเกษมสำราญในพระราชสมบัติในที่อันสบายก็มิใช่เรื่องแปลก แต่พระเจ้าอยู่หัวของปวงชนชาวไทยในเวลานั้นกลับออกบุกป่าฝ่าดงไปยังพื้นที่อันยากลำบากและทุรกันดารเพื่อแก้ไขทุกข์ยากของราษฏรทั้งในที่ใกล้และที่ไกลอยู่เสมอ

พื้นที่เชิง “เขาเต่า” ของเขตหัวหินในห้วงเวลานั้นนอกจากใช้เพื่อเหยียบยืนแล้วก็จัดว่าแทบจะหาประโยชน์อันใดมิได้เพราะเป็นพื้นที่ดินเค็มอันเป็นเหตุจากน้ำทะเลท่วมถึงยามน้ำขึ้น  และเมื่อน้ำลดระดับลงไปแล้วก็ทิ้งความเค็มทับถมเอาไว้นับแต่อดีตกาล พื้นดินตรงนี้จึงมีความเค็มจัด…เค็มเสียจนแม้กระทั่งต้นหญ้าก็ยังไม่คิดจะถือกำเนิดบนพื้นที่นี้

ดังนั้นเรื่องของการเพาะปลูกยิ่งไม่ต้องพูดถึง เขาเต่าจึงแทบไม่สามารถหาประโยชน์ทางการเกษตรใดๆ ได้เลย

แต่ในปัจจุบัน เขาเต่ามีอ่างเก็บน้ำที่แม้ว่าจะมีขนาดไม่ใหญ่มากนักหากเทียบกับเขื่อน แต่ก็สามารถที่จะทำให้ที่แห่งนี้กลายเป็นชุมชนที่สามารถอยู่อาศัยและประกอบอาชีพได้ เป็นอีกสถานที่อันน่ารื่นรมย์ด้วยทิวทัศน์ที่น้ำจืดและน้ำเค็มอยู่ห่างกันเพียงถนนและชุมชนกั้น เป็นจุดที่ดูแล้วน่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก

#ต #Redefine2 #อ่างเก็บน้ำเขาเต่า ชื่อภาพ…”สองแหล่งน้ำ”

ถอยหลังไปหลายสิบปีก่อนที่จะปรากฏมีอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ ประชาชนที่มีภูมิลำเนาละแวกเขาเต่าล้วนได้รับความเดือดร้อนในเรื่องของน้ำจืดเพื่อการอุปโภคบริโภคกันอย่างทั่วหน้า อีกทั้งบริเวณนี้เป็นจุดที่มีฝนตกน้อยมาก การที่จะฝากความหวังเอาไว้กับน้ำฝนจึงไม่ใช่หนทางที่ดีนัก

…………….

วันหนึ่งของปี พ.ศ.๒๔๙๖ รถจี๊ปคันหนึ่งวิ่งขึ้นจากทางด้านหาดทรายเข้ามาติดหล่มเลนที่บริเวณเชิงเขาเต่า เด็กเลี้ยงควายที่อยู่ในบริเวณนั้นเห็นเหตุการณ์จึงเข้าช่วยเหลือดันท้ายรถเพื่อให้พ้นจากหล่ม แต่ความพยายามนั้นดูเหมือนจะไม่เป็นผล

ชายหนุ่มคนขับรถเปิดประตูเดินลงมาถามเด็กน้อยที่ปรากฏดินเลนกระจายติดเต็มใบหน้าและลำตัวด้วยถูกล้อรถตะกุยใส่ในขณะที่ช่วยดัน พร้อมกับถามยิ้มๆ ขึ้นว่า รู้จักหรือไม่ว่าเป็นใคร?

เด็กน้อยส่ายหน้าพร้อมตอบว่าไม่รู้จัก ชายหนุ่มผู้นั้นไม่ตอบคำถาม เพียงแต่ยิ้มอ่อนโยนแล้วเดินกลับไปที่ประตูรถ หยิบธนบัตรมาหนึ่งใบแล้วคลี่กางให้เด็กน้อยดู และถามพร้อมรอยยิ้มเช่นเดิมว่า รู้จักคนในรูปนี้ไหม?

เด็กน้อยตกตะลึงพรึงเพริด ด้วยหน้าตาของชายหนุ่มคนขับรถคันนี้ช่างเหมือนกับในธนบัตรไม่มีผิดเพี้ยน พยายามที่จะก้มลงกราบแนบพื้น แต่พระองค์ทรงตรัสว่าไม่เป็นไร จากนั้นทรงเขียนข้อความลงในกระดาษ ให้เด็กน้อยถือนำไปส่งให้กับครูโรงเรียนเขาเต่าเพื่อให้มาช่วยกันดันรถขึ้นจากหล่ม

นั่นคือเหตุการณ์ในวันที่พระองค์ทรงเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์เพื่อทรงทอดพระเนตรความเดือดร้อนของพสกนิกรในพื้นที่ โดยมิได้ทรงสนพระทัยต่อความยากลำบากส่วนพระองค์แต่ประการใด

…………….

หลังจากที่ทรงมีพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของพสกนิกรในพื้นที่เขาเต่า “โครงการอ่างเก็บน้ำเขาเต่า” ซึ่งจัดว่าเป็นโครงการชลประทานในพระราชดำริแห่งแรกของสยามประเทศจึงถือกำเนิดขึ้น ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นเงินจำนวนหกหมื่นบาทให้กับกรมชลประทานเพื่อเริ่มต้นก่อสร้าง โดยได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินทำพิธีเจิมเสาเข็มในวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๖ ซึ่งอ่างเก็บน้ำเขาเต่าก็ได้ก่อสร้างจนแล้วเสร็จในปีเดียวกัน

 

อย่าลืมนะครับว่า หกหมื่นบาท ในสมัยที่ย้อนไปกว่าหกสิบปีมาแล้ว…นั่นไม่ใช่เงินจำนวนน้อยเลย

กรมชลประทานได้ส่งน้ำจากท่อน้ำดิบสายปราณบุรี-หัวหิน มาเติมน้ำลงในอ่างเก็บน้ำเขาเต่าเพื่อชะล้างความเค็ม ปัจจุบันนี้น้ำจากอ่างเก็บน้ำเขาเต่าใช้เป็นแหล่งน้ำสำรองในการผลิตน้ำประปาให้กับชุมชน โดยใช้แหล่งน้ำหลักจาก “อ่างเก็บน้ำหาดทรายใหญ่” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในโครงการตามพระราชดำริที่ถือกำเนิดขึ้นตามมาภายหลัง (ปี พ.ศ. ๒๕๒๒) เพื่อร่วมช่วยแก้ปัญหาเรื่องน้ำให้กับประชาชนในพื้นที่แห่งนี้ด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันนี้แม้ว่าอ่างเก็บน้ำเขาเต่าจะไม่ใช่ปัจจัยหลักในการอุปโภคบริโภค แต่ก็ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นสิ่งระลึกเตือนใจในน้ำพระทัยที่ได้ทรงมีต่อพสกนิกรของพระองค์ โดยมิได้ทรงย่อท้อต่อความยากลำบากแม้จะต้องลำบากพระวรกายในการบุกป่าฝ่าดงเพียงใด สภาพแห่งธรรมชาติจะเลวร้ายเพียงไหน

#ต #Redefine2 #อ่างเก็บน้ำเขาเต่า ชื่อภาพ…”สถิตย์ในใจนิรันดร์”

ใกล้กับริมฝั่งด้านถนนมีการก่อสร้างอาคารทรงวิจิตรไว้บนผืนน้ำเพื่อเป็นเครื่องหมายเชิงสัญลักษณ์ ทำให้อ่างเก็บน้ำเขาเต่ามีทิวทัศน์ชวนมองมากยิ่งขึ้น 

นี่คือ “ศาลาจตุรมุข” ที่สร้างขึ้นเพื่อเตรียมการประดิษฐานพระบรมรูปแห่ง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในอนาคตอันใกล้ เพื่อความเป็นศิริมงคลแห่งชาวบ้านเขาเต่า และพสกนิกรทุกหมู่เหล่าสืบไป

 

ผมมองดูแล้วก็เห็นว่าการบันทึกภาพจากมุมสูงน่าจะเป็นมุมมองอันน่าสนใจมากกว่า ซึ่งบริเวณเชิงเขาเต่านั้นเป็นที่ตั้งของ “วัดถ้ำเขาเต่า” อันมีสิ่งก่อสร้างหลายรายการ เราสามารถใช้เป็นทางเดินเชื่อมต่อลัดเลาะขึ้นไปบนเขาเต่าได้ ผมได้ลองหาเส้นทางขึ้นไปด้านบน แต่บนนั้นไม่ปรากฏมุมที่จะมองเห็นทางด้านอ่างเก็บนำ้เลย แต่หากเป็นทางด้านของทะเลแล้วล่ะก็เป็นจุดที่น่าสนใจเลยทีเดียว

ในที่สุดผมก็พบว่า การเดินใต่สู้แรงโน้มถ่วงขึ้นไปตามความลาดบนพื้นผิวหินแกร่งของเขาเต่าด้านที่ติดกับอ่างเก็บน้ำนั้นเป็นจุดที่สวยงามที่สุดแล้ว บนนั้นคุณจะมองเห็นทั้งน้ำทะเลและอ่างเก็บน้ำได้จากมุมเดียวกัน โดยมีภูเขาตระหง่านเป็นฉากหลัง แซมด้วยอาคารบ้านเรือนของชุมชนทั้งที่ใกล้และไกลออกไป

#ต #Redefine2 #อ่างเก็บน้ำเขาเต่า ชื่อภาพ…”น้ำคือชีวิต”

แม้ว่าอ่างเก็บน้ำเขาเต่าจะไม่ได้ทำหน้าที่เป็นตัวหลักในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำ แต่ผมก็ยังรู้สึกดีที่ได้เห็นสถานที่แห่งนี้ด้วยสองตา และเก็บภาพกลับออกมาเป็นที่ระลึก เพราะนอกจากความสวยงามแล้วก็ยังได้เห็นถึงตัวอย่างของความวิริยะอุตสาหะที่ควรค่าต่อการยึดถือเป็นแบบอย่างและได้ช่วยเพิ่มมุมมองวิธีคิดใหม่ๆ เข้ามาในชีวิตด้วย

ส่วนสำหรับ “อักขรานุกรม” ผมควรจะเลือกใช้อักษรตัวใดดี? ระหว่าง ข.ไข่ หรือว่า ต.เต่า? …ในที่สุดผมก็คงเลือกใช้ ต.เต่า ก็แล้วกัน (คุณจะใช้อักษรใดก็ได้ครับที่ปรากฏอยู่ในชื่อ แต่ต้องเป็นส่วนที่เป็นชื่อเฉพาะเท่านั้น อย่างเช่นในกรณีนี้ผมจะเลือกใช้ได้ระหว่าง ข หรือ ต เพราะเป็นชื่อเฉพาะของสถานที่ ส่วนตัวอักษรในคำว่า อ่างเก็บน้ำ นั้นเป็นคำทั่วไปที่ไม่ได้เจาะจงถึงสถานที่ ซึ่งนำมาใช้ไม่ได้)

“อ่างเก็บน้ำเขาเต่า” อีกโปรแกรมหนึ่งแห่งหัวหิน อันเป็นปฐมบทแรกแห่งพระเมตตาบารมีของมหาราชแห่งปวงชนชาวไทย…ควรต่อการเยี่ยมชมเพื่อระลึกถึงเป็นอย่างยิ่งครับ.

• ปิยะฉัตร แกหลง - มิถุนายน ๒๕๖๐ •