คนถ่ายภาพนกทั้งหลายย่อมรู้จัก “แหลมผักเบี้ย” แห่งเมืองเพชรบุรีกันเป็นอย่างดีครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูอพยพของนกชายเลนหลากหลายชนิดช่วงปลายปี เพราะที่นี่เป็นเหมือนแหล่งพักรถของนักเดินทางไกล บางรายก็ลงหลักปักฐานสร้างครอบครัวกันเสียที่นี่ ไม่ต้องไปต่อกันเลย
(สำหรับที่นี่ผมขอใช้อักษร บ.ใบไม้ เพราะดูเป็นธรรมชาติดี คุณจะเลือกใช้ตัวอักษรใดก็ได้ที่ปรากฏอยู่ในชื่อโครงการสำหรับเข้าร่วมในบันทึก “อักขรานุกรม” ของ Canon Redefine 2 ครั้งนี้)
คุณจะได้เห็นกล้องตัวใหญ่เลนส์ตัวโตแวะเวียนมาที่นี่ไม่เว้นแต่ละวัน เพราะมันเป็นแหล่งนัดพบของนกอพยพนานาชนิด ตั้งแต่สายพันธุ์หาง่ายไปจนประเภทหายากที่บางครั้งเราก็โชคดีมีโอกาสได้พบเจอด้วย ดังนั้นมันจึงเป็นแหล่งนัดพบนักถ่ายภาพนกผู้อุตสาหะด้วยเช่นกัน
ทำไมที่นี่จึงมีนกเหล่านี้เยอะนัก? …นั่นก็เพราะที่อยู่อาศัย, แหล่งอาหาร, ความปลอดภัย เป็นสิ่งที่หาได้สำหรับบรรดาสกุณาปักษาอันหลากหลาย ก็เพราะที่นี่ถูกเนรมิตขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์แห่งการอนุรักษ์และฟื้นฟูธรรมชาติจากผู้ที่ไม่สามารถหาใครเสมอเหมือนได้อีกแล้วทั้งโลกใบนี้…พระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือ “ในหลวง รัชกาลที่ ๙” ของปวงชนชาวไทย
ชื่อ “แหลมผักเบี้ย” ที่เราคุ้นเคยนั้นมีชื่อเต็มๆ ว่า “โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี” ซึ่งพระองค์ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้สำนักงานมูลนิธิ ชัยพัฒนา สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และกรมชลประทาน ร่วมกันศึกษาหาวิธีการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับขยะมูลฝอย น้ำเสีย และการรักษาสภาพป่าชายเลนด้วยวิธีทางธรรมชาติ โดยใช้พื้นที่สาธารณประโยชน์ บริเวณตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี มีเนื้อที่ประมาณ ๑,๑๓๕ ไร่
ที่เห็นได้เด่นชัดเลยก็คือเรื่องของการ “บำบัดน้ำเสีย” เปลี่ยนน้ำเสียจากสังคมเมืองให้มีสภาพที่ดีขึ้นก่อนปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ น่าทึ่งเข้าไปใหญ่เมื่อที่นี่ใช้ระบบธรรมชาติบำบัดธรรมชาติด้วยกันเอง โดยใช้พืชที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในการย่อยสลายสารพิษต่างๆ ตามกระบวนการธรรมชาติอันเรียบง่ายแต่ได้ผล ไม่ยุ่งยากสลับซับซ้อนแต่อย่างใด ไม่มีเครื่องมือเครื่องจักรใหญ่โตอยู่ในน้ำ เครื่องมือสำคัญที่ใช้มีเพียงพันธุ์พืชต้นเขียวลู่ตามลมอยู่ในน้ำ และความคิดในการบริหารจัดการระดับอัจฉริยะซึ่งเข้าใจกลไกของธรรมชาติเป็นอย่างดี
คุณอาจจะคิดว่าแต่ละโครงการตามพระราชดำรินั้นช่างห่างไกลจนไปไม่ถึง คงจะส่งภาพและเรื่องราวเข้าร่วมในโครงการ “อักขรานุกรม” นี้ไม่ไหว…แต่อย่าได้มองข้ามน้ำพระทัยจากพระราชดำริที่อยู่ใกล้ตัวครับ แค่คุณเข้าร้านสะดวกซื้อใหล้บ้านก็มีนมผงอัดเม็ดหรือผลิตภัณฑ์จากโครงการหลวงให้เห็นแล้ว หรือคุณๆ ที่อยู่กรุงเทพฯ ก็คงไม่ลืมนะครับว่าส่วนหนึ่งที่รถติดน้อยลงก็เพราะเรามีโครงการตำรวจจราจรในพระราชดำริ …ลองคิดดูใหม่อีกทีครับ น้ำพระทัยของพระองค์อยู่ใกล้ตัวเรามากมายเหลือเกิน
#บ #Redefine2 #แหลมผักเบี้ย ชื่อภาพ…”ธรรมชาติจัดการธรรมชาติ”
เมื่อเข้ามาถึงที่นี่ คุณจะได้พบกับบ่อน้ำขนาดใหญ่จำนวนหลายบ่อเรียงรายอยู่ในพื้นที่ แต่ละบ่อนั้นจะมีหน้าที่ในการพักน้ำจากสภาพบำบัดระยะต่างๆ ส่งต่อกันมา ในบ่อปลายทางนั้นจะมีสภาพไม่ต่างจากน้ำทั่วไป มีปลาตัวโตอาศัยอยู่ในนั้นตามสภาพธรรมชาติ ซึ่งก็เป็นแหล่งอาหารให้นกนานาชนิด ตั้งแต่นกตัวจิ๋วไปจนถึงนกตัวใหญ่ยักษ์เลยทีเดียว นั่นแหละครับ พวกนกทั้งหลายถึงได้ชอบที่นี่กันนัก
#บ #Redefine2 #แหลมผักเบี้ย ชื่อภาพ…”ห่วงโซ่อาหาร”
ตามบ่อทั้งหลายจะมีทางถนนที่รถสามารถวิ่งเข้าไปได้ นอกจากนี้ยังมีบริการนำเที่ยวชมโดยรถโดยสารและเจ้าหน้าที่ของทางศูนย์ฯ ซึ่งจะมีการบรรยายความรู้ประกอบความบันเทิงไปตลอดเส้นทาง ดังนั้นนอกจากนักถ่ายภาพนกแล้วก็จะมีนักท่องเที่ยวและกลุ่มทัศนศึกษาแวะเวียนมาเยี่ยมชมสถานที่แห่งนี้ไม่เว้นแต่ละวัน (ยกเว้นวันอาทิตย์)
เดิมทีที่นี่เคยอนุญาตให้สามารถนำรถส่วนตัวเข้าไปในพื้นที่ได้ แต่ในปัจจุบันนี้นับตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี พ.ศ.๒๕๖๐ เป็นต้นมาก็ได้ยกเลิกการนำรถส่วนตัวเข้าไปภายใน มีเพียงเฉพาะการใช้รถบริการของโครงการฯ เพื่อเข้าในพื้นที่เท่านั้น เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนธรรมชาติมากเกินไป
ที่น่าเพลิดเพลินเข้าไปใหญ่ก็คือ ขอบบ่อนั้นเป็นพื้นที่ “ป่าชายเลน” ในสภาพอุดมสมบูรณ์มาก มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติของป่าชายเลนจนกระทั่งทะลุออกไปสู่ฝั่งทะเลในระยะทางที่ไม่ไกลมากนัก ดังนั้นจะมาศึกษาหาความรู้ก็ดี มาท่องเที่ยวถ่ายรูปก็ได้ ที่นี่มีให้ทั้งคู่เลยทีเดียว
#บ #Redefine2 #แหลมผักเบี้ย ชื่อภาพ…”บันทึกไว้บนชายเลน”
โครงการนี้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษา ค้นคว้า และวิจัยถึงวิธีการและความเป็นไปได้ในการบำบัดน้ำเสียอย่างที่บอกไปแล้ว ซึ่งองค์ความรู้เหล่านั้นก็จะถูกเผยแพร่ส่งต่อไปยังโครงการต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นทั่วประเทศ ช่วยพัฒนาพื้นที่ได้อย่างอเนกอนันต์ เห็นผลเป็นรูปธรรมได้ชัดเจน
ดูแล้วเหมือนจะเป็นเพียงห้องทดลองเพื่อภาพลักษณ์ แต่ที่น่าทึ่งสุดๆ ก็คือ ที่นี่เป็นห้องทดลองที่ “ปฏิบัติจริง” ด้วย เพราะน้ำเสียที่เข้าบำบัดในโครงการแหลมผักเบี้ยนี้ถูกส่งมาจากตัวเมืองเพชรบุรี ซึ่งเป็นน้ำเสียจากสถานการณ์จริง ส่งผ่านระบบส่งน้ำเป็นระยะทางไกลมาสู่บ่อบำบัด แปรสภาพจากความเป็นพิษให้ใกล้เคียงสภาพน้ำในธรรมชาติ และปล่อยกลับลงสู่ทะเลในที่สุด
#บ #Redefine2 #แหลมผักเบี้ย ชื่อภาพ…”ธรรมชาติบำบัด”
น้ำเหล่านี้กลับมามีสภาพดีแล้วจริงหรือ? คุณสามารถพิสูจน์ได้จริงจากความสมบูรณ์ของป่าชายเลนที่ขอบทะเลครับ ในนั้นมีสัตว์น้ำหลากหลายชนิด ปลาตีนไม่ต้องนับจำนวน ปูหลากสายพันธุ์และสีสัน หอยอีกมากชนิด และสรรพสัตว์อีกมากหลายล้วนอาศัยระบบน้ำที่บำบัดแล้วปล่อยออกสู่ทะเลจากโครงการนี้ ซึ่งมันล้วนอยู่ในน้ำทั้งสิ้น
ถ้าไม่ดีจริงคงไม่มีอะไรอาศัยอยู่ได้แน่ครับ
ผมอยากเชิญชวนให้คุณมาเที่ยวชมโครงการแหลมผักเบี้ยนี้ดูสักหน่อย รับประกันได้เลยครับว่านอกจากเรื่องราวของความรู้แห่งการบำบัดน้ำแล้ว คุณจะได้รับความเพลิดเพลินจากบรรยากาศสวยๆ สบายตาจากที่แห่งนี้แน่นอน
เผลอๆ มันอาจจะกลายเป็นจุดหมายปลายทางแบบขาประจำสำหรับคุณไปอีกแห่งเลยก็ได้
คุณสามารถเดินทางมายังโครงการแหลมผักเบี้ยได้จากตัวเมืองเพชรบุรี แต่ผมอยากแนะนำว่า ถ้าเป็นไปได้ละก็อยากจะให้คุณเข้ามาจากทางเส้น “คลองโคน” ขับรถมาตามถนนพระรามสอง เลยทางเข้าสมุทรสงครามมาอีกนิดก็จะถึงทางเข้าดอนหอยหลอด เลยทางเข้าดอนหอยหลอดมาอีกไม่ไกล คุณจะเห็นป้ายชี้ทางเข้าไป “บ้านคลองโคน” อยู่ทางซ้าย (มีปั๊มน้ำมัน ปตท. อยู่ปากทางเป็นจุดสังเกต) นั่นแหละครับ ใช้ทางนั้นวิ่งเข้ามาเรื่อยๆ โดยยึดปลายทางเป็นโครงการแหลมผักเบี้ยฯ แต่ในระหว่างทางคุณจะได้ผ่าน “บางตะบูน” สะพานข้ามอ่าวที่มี “โตงเตง” อันเป็นกระต๊อบกลางทะเลหลังเล็กๆ สำหรับกิจกรรมประมงของชาวบ้านแถบนี้เรียงรายอยู่ทั่วปากอ่าวเต็มไปหมด จากนั้นก็จะเป็นช่วงที่เต็มไปด้วย “นาเกลือ” ซึ่งมีทิวทัศน์ชวนให้เจริญตาอยู่มาก และถ้าจะถามถึงอาหารทะเลโดยเฉพาะ “ปู” แล้วละก็ แถวนี้ล่ะครับ แหล่งเลยล่ะ
เส้นทางสายนี้จะพาคุณมาถึงโครงการแหลมผักเบี้ย และสามารถเลยไปออกที่ชะอำ ยาวต่อไปถึงหัวหินได้เลยเช่นกัน เป็นเส้นทางเลี่ยงทางลัดสู่หัวหินทั้งเที่ยวทั้งกินกันเพลินๆ เลยเชียว
จากพระอัจฉริยะภาพแห่งพ่อหลวงของปวงชนชาวไทย สู่โครงการจากพระราชดำริมากมายนับร้อยนับพันที่สร้างคุณประโยชน์อเนกอนันต์สู่พสกนิกรอย่างประเมินค่ามิได้ ในเมื่อพระองค์ได้ทรงทำเป็นแบบอย่างให้พวกเราได้เห็นแล้ว ก็สมควรอย่างยิ่งที่เราควรจะต้องไปเยี่ยมชมโครงการเหล่านี้ให้เห็นกับตา พัฒนาความคิดดีๆ ให้เกิดแก่ชีวิตและสังคมให้ได้
…อย่าให้เสียทีที่มีโอกาสได้เกิดบนผืนแผ่นดินที่พระองค์ทรงเพียรครับ.
• ปิยะฉัตร แกหลง - กรกฏาคม ๒๕๖๐ •