รากเหง้าของเหล่าเราชาวไทยนับแต่ครั้งอดีตกาลนั้นล้วนยืนอยู่บนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเองในระบบสังคมเกษตรกร แทบจะทุกสิ่งในการดำรงชีพนั้นสามารถผลิตขึ้นได้เองจากผลิตผลทางการเกษตรเหล่านั้น

…ซึ่งก็คือสังคมในระบบของ “เศรษฐกิจพอเพียง” นั่นเอง

แต่เดิมนั้นเราปลูกพืชผักผลไม้ในพื้นที่รอบบริเวณบ้าน มีการเลี้ยงสัตว์ชนิดต่างๆ เพื่อใช้ประโยชน์ทางด้านอาหาร เลี้ยงเป็ดไก่เพื่อหวังไข่ เลี้ยงหมูเลี้ยงปลา ต้นไม้ที่ให้ผลไม้ก็มีอยู่ทั่ว สามารถทั้งบริโภคสดหรือแปรรูปเก็บไว้เป็นเสบียง แม้กระทั่งเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มต่างๆ ก็ผลิตขึ้นเองจากพืชผลหรือสิ่งรอบตัวในธรรมชาติตามภูมิปัญญาดั้งเดิม …แทบไม่ต้องใช้เงินสักบาทในการดำรงชีพ

#ร #Redefine2 #อัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ ชื่อภาพ…”ภูมิปัญญาที่พอเพียง”

นอกจากผลิตผลเพื่อการดำรงชีพในครัวเรือนแล้ว ส่วนที่มากเกินการใช้งานก็สามารถนำไปขายหรือแลกเปลี่ยนกับสิ่งอื่นที่เราไม่มี เช่น นำพริกบ้านเราไปแลกกับมะพร้าวบ้านโน้น แลกข้าวสารด้วยไข่ไก่กับข้างบ้าน หรือแม้กระทั่งจ่ายค่าก๋วยเตี๋ยวด้วยฝ้ายที่ทอจากนุ่น ฯลฯ นี่คือตัวอย่างของสังคมแห่งการแลกเปลี่ยนที่คนรุ่นใหม่ๆ อาจจะนึกภาพไม่ออกว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไร?

ผมเองยังพอจะเคยได้เห็นลักษณะเช่นนี้เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ถ้าจะเทียบกับความสะดวกสบายของปัจจุบันที่สามารถแลกทุกอย่างมาได้ด้วยเงินแล้วละก็อาจจะเป็นคนละเรื่อง แต่ถ้าจะพูดถึงความเครียดและเหนื่อยกายเหนื่อยใจกับสังคมที่บีบคั้นในการตั้งหน้าตั้งตาหาเงินเพื่อเอาตัวรอดแล้ว… มันก็จะเป็นหนังคนละม้วนเลยทีเดียว

ภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่สั่งสมกันมานั้นบางครั้งก็เป็นเรื่องน่าทึ่งครับ คุณรู้หรือไม่ว่าเรามีความสามารถในการแปรรูปพืชผลจากต้นไม้หรือหนอนให้กลายเป็นเสื้อผ้าได้ เราสามารถเปลี่ยนสิ่งที่ต้นไม้ดูดขึ้นมาจากใต้ดินให้กลายเป็นอาหารสารพัดอย่างจนโด่งดังไปทั่วโลกได้ แม้เครื่องใช้หลายสิ่งก็มาจากผลของพืชและสัตว์ชนิดที่เราไม่มีทางนึกออกเลย

…มันจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายไม่น้อย หากความรู้ดั้งเดิมในการดำรงชีวิตเหล่านี้ค่อยๆ เลือนหายไปตามกาลเวลาโดยปราศจากผู้สืบทอดเอาไว้

คุณไม่รู้ทั้งหมดหรอกว่าทำยังไงถึงจะได้เป็นข้าวสารออกมา สิ่งที่คุณรู้ก็คือ ถ้ายื่นเงินไปข้าวสารก็มา ถ้ายื่นเงินไปสารพัดอาหารที่พร้อมต่อการรับประทานก็จะมา…แต่ถ้าตื่นขึ้นมาในเช้าวันหนึ่งแล้วได้รับรู้ว่าระบบการเงินล่มสลาย หรือเป็นวันที่เงินหมดความสำคัญลงไป คำถามก็คือคุณจะเอาข้าวปลาอาหารจากไหนมาดำรงชีวิต? นี่ไม่ใช่เรื่องเกินจริงนะครับ ดูตัวอย่างจากหลายๆ ประเทศที่ล่มสลายจากภาวะสงครามหรือเหตุการณ์อุบัติภัยทางธรรมชาติเป็นตัวอย่างก็ได้

ถึงจะมีเงินมากมาย แต่ก็ไม่มีอาหารให้ซื้อ…

ก็ด้วยเหตุเช่นนี้ จึงมีผู้ให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ภูมิปัญญาในการดำรงชีวิตสไตล์เกษตรกรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเอาไว้ไม่ให้สูญหายไปเฉยๆ ถึงแม้ว่าจะเก็บเอาไว้ไม่ได้ทั้งหมดแต่ก็ยังรักษาบางส่วนเอาไว้เพื่อส่งต่อให้คนรุ่นต่อๆ ไปได้ศึกษาเป็นแนวทาง อาจจะไม่ต้องถึงกับผันตัวเองมาปลูกข้าวทำนาเก็บผักตักน้ำ แต่ก็ยังได้เห็นแนวคิดที่สามารถนำไปประยุกต์ให้เข้ากับสถานการณ์ในชีวิตของตนเองในปัจจุบันได้

“มูลนิธิชัยพัฒนา” คือองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ภูมิปัญญาเหล่านี้เอาไว้เพื่อส่งต่อให้กับลูกหลาน คุณจึงได้เห็นหลากหลายสถานที่ซึ่งมีวิถีเช่นนี้อยู่ภายใต้การดำเนินงานหรือให้การสนับสนุนต่อการดำรงคงอยู่ครับ และก็ดูเหมือนว่าคนรุ่นใหม่ๆ จำนวนไม่น้อยที่ให้ความสนใจ และบางสถานที่นั้นก็กลมกลืนอยู่กับสถานที่อันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ได้รับความนิยมเสียด้วย

“อัมพวา” …เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ที่มีผู้คนรู้จักอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะในวันเสาร์อาทิตย์นั้นแทบจะเรียกได้ว่าเป็นมหกรรมแห่งการเที่ยวชมตลาดน้ำยามเย็นที่ผู้คนแทบจะเบียดเสียดเยียดยัดกันเลยทีเดียว

อำเภอซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังของ จ.สมุทรสงครามนี้จะมีเพียงแค่ตลาดน้ำก็หาไม่ เพราะริมคลองอัมพวาแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของโครงการ “อัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์” ซึ่งมีเจตนารมย์ในการอนุรักษ์วิถีชีวิตชาวสวนเกษตรเพื่อสืบสานแนวทางชีวิตพอเพียงให้เห็นผ่านการปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน

ไม่หรอกครับ…ผมไม่ได้เพียงแค่จะชวนคุณไปดูท้องร่องพืชพันธุ์การเกษตรที่ดูแล้วก็งั้นๆ เพราะนอกจากสภาพของความเป็นสวนอย่างที่คุณพอจะนึกภาพออกแล้ว ที่แห่งนี้ยังมีภูมิปัญญาอีกหลากหลายให้คุณได้ดูของจริง มิใช่เพียงแค่รูปถ่ายประกอบตัวอักษรติดบอร์ดหรือฉายภาพไปบนจอเท่านั้น

เมื่อเข้าไปในบริเวณบ้านอันเป็นพื้นที่ของโครงการนี้ สิ่งแรกที่คุณจะได้สัมผัสคือความร่มรื่นของพืชผลทางการเกษตรหลากหลายชนิด เครื่องมือเครื่องใช้จากยุคดั้งเดิม บ้านทรงไทยแบบชีวิตจริงตั้งเด่นเป็นสง่า โอบล้อมด้วยต้นไม้ใหญ่น้อยที่แข่งกันออกดอกออกผลอยู่ทั่วไปหมด บริเวณหลังบ้านมีสาธิตการเลี้ยงไส้เดือนเพื่อสร้างประโยชน์แนวพึ่งพาอาศัยระหว่างคนและสัตว์ในการเพิ่มความสมบูรณ์ให้กับพื้นดินเพื่อการเพาะปลูก

นอกจากต้นไม้ประเภทให้ผลชนิดต่างๆ และฝูงปลาตามธรรมชาติที่เวียนว่ายในท้องร่องแล้ว ตามร่องสวนบริเวณข้างบ้านนั้นก็เน้นที่การปลูก “มะพร้าวน้ำหอม” พันธุ์ท้องถิ่นเรียงรายเป็นแนวยาว ซึ่งสิ่งนี้แหละครับที่จัดว่าเป็นไฮไลท์ของการมาเที่ยวชมที่นี่ เพราะผลิตผลที่สำคัญอย่างหนึ่งอันได้จากมะพร้าวเหล่านี้ไม่ใช่มะพร้าวเผาหอมชื่นใจ หากแต่เป็น “น้ำตาลมะพร้าว” ที่หลายคนอาจจะถึงแก่ความฉงนพิกลใจว่ามันมีด้วยหรือ?

หากพูดถึงคาราเมลหรือไซรัปของฝรั่งมังค่าก็คงจะเป็นที่รู้จักกันดี แต่ผมคิดว่าน้ำตาลมะพร้าวนี้หากพัฒนาต่อยอดออกไปอีกก็น่าจะเป็นสิ่งที่ให้ความหวานในอาหารด้วยกลิ่นและรสที่ไม่แพ้กันเลยทีเดียว

#ร #Redefine2 #อัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ ชื่อภาพ…”แท้ 100%”

ผมไม่ได้พาคุณมาซื้อของเพียงอย่างเดียวครับ แต่จะให้ไปดูก่อนซื้อเลย เพราะนอกจากจะมีน้ำตาลมะพร้าวของแท้จำหน่ายอยู่ที่นี่แล้ว คุณจะแน่ใจได้ 100% ว่านี่คือน้ำตาลมะพร้าวสดจากสวนธรรมชาติของแท้แน่นอน เพราะด้านหลังบ้านนั้นเป็น “โรงเคี่ยวน้ำตาลมะพร้าว” ที่ไม่ได้เพียงแค่สาธิตเรียกร้องความสนใจ แต่ผลิตจริงในชีวิตจริงให้คุณได้เห็นทุกขั้นตอน ตั้งแต่การตัดและรองน้ำหวานจากช่อดอกของต้นมะพร้าว ผ่านทุกขั้นตอนไปจนหยอดใส่กระทงบรรจุหีบห่อให้คุณซื้อหาได้สดๆ เดี๋ยวนั้นเลยทีเดียว

#ร #Redefine2 #อัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ ชื่อภาพ…”สดจากต้น”

คุณคงเข้าใจว่าน้ำตาลมะพร้าวนี้ก็คงจะทำจากนำ้มะพร้าวในลูกมะพร้าวใช่ไหมล่ะครับ?…ไม่เลย มันเป็นน้ำหวานที่รองออกจากการตัด “ช่อดอก” บนต้นมะพร้าวใส่ภาชนะ ซึ่งต้องใช้เวลานับวันนับคืนแล้วนำมาผ่านกระบวนการให้ความร้อน จากนั้นเคี่ยวจากของเหลวให้กลายเป็นน้ำตาลข้นเหนียวซึ่งมีหน้าตาไม่ต่างจากคาราเมลที่คุณรู้จักนั่นเลยทีเดียว

#ร #Redefine2 #อัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ ชื่อภาพ…”กว่าจะมาเป็นน้ำตาลมะพร้าว”

 

 

ทุกขั้นตอนที่ว่ามานี้มีให้เห็นกันสดๆ ณ โรงเคี่ยวน้ำตาลหลังเล็กในร่มเงาชาวสวนแห่งนี้ครับ วิธีการทางภูมิปัญญาเรื่องน้ำตาลมะพร้าวนี้ดูน่าสนใจมาก ไม่น่าเชื่อว่าคนเก่าคนก่อนเค้าจะมีไอเดียในการแปรรูปสิ่งที่อยู่ในต้นไม้ได้ถึงขนาดนี้

บริเวณโครงการนี้ยังมีการจัดกิจกรรมในเชิงภูมิปัญญาพื้นบ้านอันหลากหลายสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปในแต่ละช่วงตลอดทั้งปี มีสินค้าจากผลิตผลพื้นบ้านจำหน่ายหลากหลาย ด้านหน้าที่ติดกับถนนนั้นก็ยังเป็นร้านกาแฟพร้อมจัดมุมในบรรยากาศของสวนสไตล์เกษตรแท้ๆ ให้นั่งละเลียดบรรยากาศแนบชิดติดท้องร่องกันอีกด้วย

ข้ามฝั่งถนนไปก็จะทะลุออกไปยังริมคลองอัมพวา ก็คลองที่นักท่องเที่ยวนิยมมาเดินช้อปชมชิมตลาดน้ำกันนั่นแหละครับ แต่ก่อนจะถึงตัวคลองก็จะมีพื้นที่จำหน่ายสินค้าอาหารพื้นบ้านหลากหลายชนิด มีพิพิธภัณฑ์เรือจัดแสดงอยู่ที่มุมหนึ่ง และเมื่อคุณเข้าสู่ร้าน “ชานชาลา” ซึ่งเป็นอีกร้านน่านั่งอันทะลุออกไปริมคลองได้ ผมก็อยากชวนให้คุณนั่งพักตรงนี้ก่อน เพราะร้านนี้ก็คือผลิตผลจากโครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ นั่นแหละครับ และที่ผมคิดว่าคุณไม่ควรพลาดอย่างยิ่งก็คือเครื่องดื่มอันเป็นไฮไลท์เด็ดของร้านที่มีชื่อว่า “ม่วงชื่นชานชาลา” ซึ่งจัดว่าไม่ธรรมดาเพราะเป็นเครื่องดื่มสูตรพระราชทาน รสหวานอมเปรี้ยวสลับซับซ้อนจากพืชสมุนไพรหลากชนิด แก้ร้อนดับกระหายได้ชะงัดนัก

#ร #Redefine2 #อัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ ชื่อภาพ…”ม่วงชื่นชานชาลา”

…จากนั้นจะสั่งสารพัดอาหารจากเรือในคลองขึ้นมานั่งรับประทานก็ตามใจ กินไปดื่มไปแสนสบายอุราเสียจริง

ช่วงแดดร่มลมตกนักท่องเที่ยวก็จะเริ่มเต็มพื้นที่ตลาดน้ำยามเย็นของอัมพวา แต่ถ้าไม่ถนัดบรรยากาศมหาชนละก็ผมขอแนะนำให้จัดโปรแกรมโดยมาถึงที่นี่ตั้งแต่ช่วงเช้าเพื่อเข้าเยี่ยมชมพื้นที่ของโครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ ซึ่งสามารถติดต่อขอเจ้าหน้าที่นำเที่ยวชมพร้อมอธิบายความรู้ในบริเวณโครงการตามร่องสวนก็ได้ หรือจะเดินเองชมเองก็ดี บรรยากาศยามเช้าในบ้านสวนนี้เด็ดขาดนัก รับรองว่าจะติดใจ

#ร #Redefine2 #อัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ ชื่อภาพ…”ร.เรือ กลางสวน”

ใช้เวลาชิวๆ ชมพื้นที่และรับไอควันน้ำตาลมะพร้าวหอมฉุยจากโรงเคี่ยวน้ำตาลเรียบร้อยแล้วก็เดินย้อนกลับทะลุสวนออกมานั่งพักจิบเครื่องดื่มที่ด้านหน้าโครงการชมบรรยากาศสวนเกษตร หายเหนื่อยหายเมื่อยแล้วก็ข้ามไปเดินเลาะลัดตามแนวริมคลองอัมพวาอันเต็มไปด้วยสีสัน แม้ว่าจะชื่อตลาดน้ำยามเย็นแต่ในช่วงกลางวันก็จะมีบรรยากาศของร้านรวงที่ทยอยเปิดร้านรับลูกค้ากันแล้ว เดินพอเหนื่อยก็กลับมาแวะนั่งที่ร้านชานชาลาดื่มม่วงชื่นชานชาลาดับร้อนพร้อมสั่งอาหารจากบรรดาแม่ค้าในคลองขึ้นมารับประทาน จากนั้นก็ช้อปชมชิมสินค้าพื้นบ้านในบริเวณนั้นตามอัธยาศัย เพลิดเพลินจำเริญใจหาใดเปรียบปานจริงเจียว

ว่าแล้วผมก็ขอเลือกใช้อักษร “ร.เรือ” สำหรับที่นี่เพื่อบรรจุเข้าหมวดอักษรสำหรับ “อักขรานุกรม”  ในโครงการ Canon Redefine 2 ครับ 

แค่นี้คุณก็ได้ “ท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋สไตล์ลึกซึ้ง” อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว เพราะเราได้ลึกซึ้งไปถึงวิธีการดำรงชีพตามแบบฉบับภูมิปัญญาไทยที่นับวันก็ยิ่งหาดูยากเข้าไปทุกที โชคดีที่เรามีร่มโพธิ์ร่มไทรช่วยปกปักรักษารากเหง้าความเป็นไทยอันเป็นต้นฉบับความพอเพียงเหล่านี้เอาไว้ให้ได้เห็นกันเป็นแนวทาง

เย็นศิระเพราะพระบารมี …ชีวิตนี้จะอับจนได้อย่างไรหากเราเข้าใจถึงความ “พอเพียง”?

• ปิยะฉัตร แกหลง - กรกฏาคม ๒๕๖๐ •