“ทรงมีพระราชอารมณ์ขันที่ลึกซึ้งอยู่เสมอ”

นอกจากความวิริยะอุตสาหะและเสียสละให้เราได้จดจำเป็นแบบอย่างแล้ว ความเรียบง่ายที่สอดแทรกอยู่ในเรื่องยากๆ ก็เป็นสิ่งที่พบเห็นได้เสมอ ต่อให้เรื่องนั้นจะดูเป็นสิ่งที่สูงส่งเกินกว่าความธรรมดาจะเข้าถึง

#ม #Redefine2 #ชั่งหัวมัน ชื่อภาพ…”A road to home”

การเดินทางเก็บภาพและสืบเสาะเรื่องราวสำหรับ “อักขรานุกรม” ในโครงการ Canon Redefine2 ของผมมาถึงแห่งสุดท้ายที่ “โครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ” อันห่างไกลเข้าไปในหมู่ขุนเขา

คุณอาจจะคิดว่าแต่ละโครงการตามพระราชดำรินั้นช่างห่างไกลจนไปไม่ถึง คงจะส่งภาพและเรื่องราวเข้าร่วมในโครงการ “อักขรานุกรม” นี้ไม่ไหว…แต่อย่าได้มองข้ามน้ำพระทัยจากพระราชดำริที่อยู่ใกล้ตัวครับ แค่คุณเข้าร้านสะดวกซื้อใหล้บ้านก็มีนมผงอัดเม็ดหรือผลิตภัณฑ์จากโครงการหลวงให้เห็นแล้ว หรือคุณๆ ที่อยู่กรุงเทพฯ ก็คงไม่ลืมนะครับว่าส่วนหนึ่งที่รถติดน้อยลงก็เพราะเรามีโครงการตำรวจจราจรในพระราชดำริ …ลองคิดดูใหม่อีกทีครับ น้ำพระทัยของพระองค์อยู่ใกล้ตัวเรามากมายเหลือเกิน

“ชั่งหัวมัน” ชื่อโครงการและประโยคต่อท้ายนั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องจากคนละแหล่งคนละชั้น ดูเหมือนเป็นความสบายและปล่อยวางจากสิ่งที่เคร่งเครียดทั้งหลาย แต่กลับกลายเป็นโครงการที่ช่วยพัฒนาระบบการเกษตรซึ่งสามารถใช้เป็นต้นแบบเพื่อการพัฒนาได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งเป็นอีกตัวอย่างที่แสดงได้ชัดเจนถึงพระราชอารมณ์ขันที่ทรงสอดแทรกเอาไว้ในงานที่ยิ่งใหญ่เสมอมา

ชื่อ “ชั่งหัวมัน” นี้มีที่มาจากการที่มีชาวบ้านนำหัวมันเทศมาถวาย ณ วังไกลกังวล อ.หัวหิน ทรงรับสั่งให้นำหัวมันเทศนั้นวางไว้บนตาชั่งแบบโบราณในห้องทรงงาน หลังจากเสด็จกลับมายังวังไกลกังวลอีกครั้งก็ทรงพบว่าหัวมันเทศบนตาชั่งนั้นกลับงอกรากและแตกใบออกมา

“มัน…อยู่ที่ไหนก็ขึ้นได้” พระราชปรารภนี้จึงเป็นที่มาของชื่อ “ชั่งหัวมัน” เป็นดั่งแรงบันดาลใจที่จะทรงทำให้โครงการอันเป็นประโยชน์กลับงอกเงยขึ้นมาได้แม้ในพื้นที่ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้

#ม #Redefine2 #ชั่งหัวมัน ชื่อภาพ…”ชั่งหัวมัน”

ในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ โครงการในพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙ แห่งสุดท้ายที่ชื่อ “ชั่งหัวมัน” ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยการขอซื้อที่ดินจากชาวบ้านในพื้นที่บ้านหนองคอกไก่ ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ในเวลานั้นเป็นพื้นที่แห้งแล้งห่างไกลความเจริญและทำการเกษตรไม่ใคร่จะได้ผลนัก มีเพียงต้นยูคาลิปตัสอยู่ทั่วไปในพื้นที่ ชาวบ้านในละแวกนั้นต่างก็สงสัยว่าจะซื้อที่ดินจำนวนมากไปเพื่ออะไร? แต่พอรู้ว่าในหลวงทรงซื้อก็พากันยกมือสาธุท่วมหัวแล้วถวายที่ดินเพิ่มเติมอีกไม่น้อย

ทุกวันนี้เส้นทางถนนอันสะดวกสบายหลายสายตรงเข้าสู่โครงการชั่งหัวมัน แต่ในอดีตยุคแรกเริ่มนั้นก็มีสภาพแบบเดียวกับที่พระองค์ทรงโปรด นั่นก็คือหนทางยากลำบากและทุรกันดาร การที่จะเข้าถึงบ้านหนองคอกไก่ได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลาค่อนข้างนานด้วยความขรุขระและหลุมบ่อแห่งถนนดินอันห่างไกล แต่เพราะนั่นคือพื้นที่ซึ่งปรากฏความเดือดร้อนทุกข์ยากของประชาชน พระองค์จึงทรงโปรดที่จะเสด็จเข้าไปเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้ทุเลาเบาบาง เช่นเดียวกับอีกนับพันโครงการที่มีจุดเริ่มต้นเป็นความทุรกันดารอย่างสาหัสดุจเดียวกัน

ทั้งเจ้าหน้าที่สนองพระราชดำริและชาวบ้านในระแวกนั้นต่างก็ให้ความร่วมแรงร่วมใจในการปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่อย่างแข็งขัน ทันทีที่มีการเริ่มต้นขึ้น โครงการก็สำเร็จเป็นรูปเป็นร่างอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็ด้วยความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจ โดยมีพระองค์ท่านเป็นดั่งศูนย์รวมใจของทุกคน แม้ว่าอากาศจะร้อนแล้งและยากลำบากเพียงใดแต่งานก็เดินหน้าไปอย่างรวดเร็วเป็นที่น่าอัศจรรย์

ปัจจุบันนี้โครงการชั่งหัวมันมีพื้นที่รวม ๒๕๐ ไร่ เป็นแหล่งรวบรวมพืชผลสายพันธ์ุเด่นของ อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เพื่อศึกษาและพัฒนาวิธีการเพาะปลูกให้ได้ผลมากยิ่งขึ้น ซึ่งเน้นเป็นพิเศษถึงการเพาะปลูกโดยหลีกเลี่ยงสารเคมี หรือถ้าจะมีก็ต้องน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ นอกจากพืชไร่สายพันธุ์ต่างๆ แล้วก็ยังมีการดำเนินงานทางด้านปศุสัตว์ รวมไปถึงการเลี้ยงโคนมและไก่ไข่ ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ได้จะทำการผลิตและออกจำหน่ายในร้าน Golden Place ซึ่งอยู่ในพื้นที่โครงการฯ รวมไปถึงส่งออกไปจำหน่ายยังที่ต่างๆ ด้วย

ผมแวะไปถ่ายภาพ “คุณตุ่ม” โคนมเพศผู้พระราชทาน และฝูงโคอื่นๆ ในละแวกโรงรีดนม ได้เห็นการให้นมกับลูกโคเล็กๆ ในคอกแล้วก็ได้ความจากเจ้าหน้าที่ว่า นมโคที่รีดได้เหล่านี้นอกจากจะนำมาเลี้ยงลูกโคแล้วก็จะใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตออกมาเป็นอาหารชนิดต่างๆ และแน่นอนว่าย่อมมี “น้ำนม” พร้อมดื่มจำหน่ายด้วย ด้วยบรรยากาศเช่นนี้ผมย่อมไม่พลาดการดื่มนมซึ่งเป็นผลผลิตจากฟาร์มในโครงการแน่นอน…ถ้าคุณมาก็อย่าได้พลาดเชียว

การดำเนินงานใดๆ ก็ย่อมต้องมีการใช้ “พลังงาน” ใช่ไหมล่ะครับ? เมื่อคุณมาถึงก็จะได้เห็นสัญลักษณ์ของโครงการเป็น “ทุ่งกังหันลมผลิตไฟฟ้า” ต้นใหญ่สีขาวสะอาดตาเรียงรายอยู่ในคอกวัวอันเป็นทุ่งหญ้าเขียวขจี คอยส่งเสียงหวีดหวิวยามต้องลมแล้วผลิตไฟฟ้าส่งออกมาโดยอาศัยพลังงานธรรมชาติ รวมทั้งมีแผงโซล่าร์เซลล์ติดตั้งอยู่ด้านล่างช่วยผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์อีกแรงหนึ่ง แถมยังทำหน้าที่ให้ร่มเงาหลบร้อนแก่ฝูงวัวในคอกได้ด้วย ไฟฟ้าที่ผลิตได้นี้มิได้นำมาใช้งานในโครงการโดยตรง หากแต่ส่งให้กับการไฟฟ้าฯ แล้วหักลบกับค่ากระแสไฟฟ้าปกติที่ใช้ในโครงการฯ อีกที ดังนั้นจึงไม่ต้องเสียค่าไฟฟ้าสักบาทเพราะผลิตได้มากกว่าที่ใช้อยู่

จุดสำคัญอีกจุดหนึ่งในโครงการฯ ก็คือ “เรือนประทับ” ของพระองค์ …จะอย่างไรเสียเราก็คงนึกว่าต้องเป็นปราสาทราชวังหรูหราใหญ่โตสูงเทียมฟ้าตามแบบฉบับของพระราชา และห้ามเข้าใกล้โดยเด็ดขาด แต่สำหรับที่นี่แล้วเป็นเพียงแค่เรือนไม้สองชั้นเรียบง่ายไม่ได้หรูหราหรือใหญ่โตมากมายนัก เพียงข้ามถนนสายเล็กหน้าเรือนออกไปก็เป็นแปลงนาข้าวและแปลงเกษตรกว้างขวางหลากหลายสายพันธ์ุให้ทรงพิจารณาได้ตลอดเวลา ซึ่งคุณสามารถเยี่ยมชมบ้านหลังเล็กของในหลวง ณ ที่แห่งนี้ได้เสมอ

…จะมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในโลกกันเล่าที่จะทรงมีปกติเป็นความเรียบง่ายและใส่ใจกับความเป็นอยู่ของอาณาประชาราษฏร์ได้เช่นนี้?

พื้นที่กว้างขวางใหญ่โตของโครงการชั่งหัวมันแม้จะมีความสดชื่นด้วยใกล้ชิดธรรมชาติตามวิถีเกษตร แต่หากจะเดินเท้าศึกษาดูงานก็คงจะต้องใช้เวลากันอย่างมากมาย ดังนั้นในโครงการฯ จึงมีรถบริการที่สามารถนั่งได้หลายคนคอยพานำเยี่ยมชมโดยตระเวณไปตามเส้นทางต่างๆ พร้อมการบรรยายให้ความรู้จากเจ้าหน้าที่ ซึ่งก็แทบไม่ได้ว่างเว้นจากกลุ่มชนผู้สนใจเลยทีเดียว

#ม #Redefine2 #ชั่งหัวมัน ชื่อภาพ…”กลางท้องทุ่งแห่งชั่งหัวมัน”

แต่ที่เป็นอีกเสน่ห์สำคัญของโครงการชั่งหัวมันก็คือ ที่นี่มี “จักรยาน” ให้บริการยืมใช้โดยไม่คิดมูลค่า (จักรยานเหล่านี้สนับสนุนโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย) คุณสามารถปั่นจักรยานไปได้ยังทุกพื้นที่ของโครงการฯ ลัดเลาะไปตามเส้นทางสายเกษตรกรรมเข้าแปลงนู้นออกแปลงนี้ ได้ออกกำลังและสูดอากาศบริสุทธิ์แห่งท้องทุ่งไปด้วย ได้ทั้งอาหารตา อาหารใจ และอาหารสมองไปในคราวเดียวกัน มันคือความสุขในอีกโลกหนึ่งที่ไม่มีทางพบเจอในสังคมเมืองอันเร่งรีบตีนก็ถีบปากก็กัดอย่างแน่นอน

ผมเองก็ใช้จักรยานคันสีเหลืองนี่แหละครับ ปั่นเก็บภาพไปทั่วทั้งโครงการ ถึงมันจะทั้งร้อนทั้งเหนื่อยแต่ก็ชั่งหัวมัน เพราะมีความสุขอย่างเต็มเปี่ยมในพื้นที่นั้น แน่นอนว่าย่อมจะดีต่อใจด้วย

ปั่นจักรยานไปกลางแสงแดดภายใต้ท้องฟ้าใส เจอจุดไหนที่มีมุมสวยๆ ก็แวะเก็บภาพอย่างเพลิดเพลิน ในใจผมก็แอบคิดไปด้วยว่าถ้าจะบันทึกโครงการชั่งหัวมันเข้าเป็นตัวอักษรใน ”อักขรานุกรม” ผมน่าจะเลือกตัว ม.ม้า เพราะพุ่งประเด็นไปที่ “มันเทศ” อันเป็นต้นกำเนิดของชื่อโครงการนี้ แหม ถ้าเปลี่ยนจักรยานไปเป็นม้าสีขาวก็คงจะยิ่งเข้าทีได้บรรยากาศอยู่ไม่น้อย เสียดายว่าไม่มี แต่ถึงมีก็ขี่ไม่เป็น ดังนั้นจักรยานกับกล้องถ่ายรูปนี่แหละเวิร์คสุด

คุณรู้จักกลิ่นดินหรือกลิ่นท้องไร่ท้องนาไหมล่ะครับ? ถ้านั่นคือสิ่งที่ทำให้คุณสดชื่นละก็ ที่นี่มีอยู่ทุกอณู แต่ถ้าคุณนึกไม่ออกก็น่าจะลองมาที่นี่ ถึงแม้ว่าบรรยากาศแห่งท้องไร่ท้องนานั้นที่ไหนก็มี แต่ที่นี่จะมีความอบอุ่นซาบซึ้งใจแปลกประหลาดปะปนอยู่ด้วย ซึ่งผมคิดว่าสิ่งนั้นคือ “พระบารมี” ที่แม้จะมองไม่เห็นแต่รู้สึกได้แทบทุกครั้งที่หายใจเข้าออกเลยทีเดียว

ผมยังคิดอยู่ในใจด้วยว่า นี่ขนาดว่าเป็นฤดูฝนบรรยากาศก็ยังดีขนาดนี้ แล้วถ้าเป็นช่วงฤดูหนาวจะยิ่งดีขนาดไหน? ฟ้าใสๆ ลมเย็นๆ เดินเล่นในโครงการ ยิ่งถ้าเป็นช่วงเช้าแสงสวยๆ หรือช่วงเย็นแดดร่มลมตกด้วยแล้วละก็คงจะมีมุมถ่ายรูปสวยๆ เยอะแยะไปหมดแน่เลย

#ม #Redefine2 #ชั่งหัวมัน ชื่อภาพ…”จากพระราชดำริสู่ชั่งหัวมัน”

อีกความรู้สึกที่ผุดขึ้นมาในใจแทบจะตลอดเวลาก็คือความ “คิดถึง” ครับ ยิ่งได้เห็นสภาพของความเพียรและความพอเพียงตามวิถีของมนุษย์พื้นฐานที่ปรากฏอยู่ในทุกจุดของที่นี่แล้วก็ห้ามความคิดที่จะจินตนาการย้อนไปถึงในอดีตไม่ได้ สถานที่ซึ่งดูสวยงามตามธรรมชาติอันแต่งแต้มด้วยวิถีเกษตรขนาดนี้เคยเป็นพื้นที่อันเต็มไปด้วยก้อนดินแห้งแล้งห่างไกลและดูไร้ค่าหาประโยชน์ใดๆ แทบไม่ได้ แต่ฟ้ายังคงดั้นด้นมา พลิกฟื้นสิ่งไร้ค่าให้กลายเป็นแผ่นดินทองขึ้นมาได้ และสร้างประโยชน์ในระยะยาวด้วยการเป็นแหล่งกระจายองค์ความรู้ซึ่งจะช่วยพัฒนาประเทศในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

…ประทานไว้เป็นขวัญและกำลังใจ แม้จะถึงวันที่จากไกลไปแล้วก็ตาม

ผืนดินจะกันดารแค่ไหน “ฟ้า” ก็ยังเปลี่ยนให้กลายเป็นขุมทรัพย์และภูมิพลังแห่งแผ่นดินได้เสมอ…เหมือนกับหัวมัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ยังขึ้นได้

ถ้าเรามีความวิริยะอุตสาหะเสียอย่างก็พยายามทำให้เต็มที่ ถึงสถานการณ์วันนี้จะดูแย่แค่ไหนก็ “ชั่งหัวมัน”.

• ปิยะฉัตร แกหลง - กรกฏาคม ๒๕๖๐ •