อักขรานุกรม ก-ฮ ให้ภาพเล่าเรื่อง ตอน [ ก – ข – ง – จ – ซ ]
หมวดอักษร ก ชื่อภาพ เกษตรกรไทย
ภาพโดย K.Sippakorn Yamkasikorn
“...การเกษตรนี่มีความสำคัญจริง ถ้าไม่มีการเกษตรก็เกือบจะพูดได้ว่าเราจะต้องตายกันหมด เพราะจะไปอาศัยอาหารวิทยาศาสตร์ก็รู้สึกว่าลำบากอยู่และกินไม่อิ่ม แต่ว่าทำไมคนถึงนึกว่าการเกษตรนี่เป็นสิ่งที่ต่ำต้อย ที่ไม่สำคัญ ทั้งๆที่ความจริงเราต้องอาศัยการเกษตรเพื่อชีวิตของเรา ไม่ใช่เฉพาะสำหรับอาหารเท่านั้น สำหรับสิ่งอื่นทั้งหลายด้วยที่เราต้องอาศัยการเกษตร อันนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่น่าประหลาด ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่น่าประหลาดเหมือนกัน คือได้พบว่าการเกษตรนั้นน่ะไม่ใช่เฉพาะการเอาเมล็ดผักไปหยอดในร่อง แล้วมันจะขึ้นมาเป็นผลผลิตที่เหมาะสมได้ หากแต่ต้องอาศัยวิชาการอย่างอื่นทุกด้าน ตั้งแต่การหยอดเมล็ดพันธุ์ลงไปในร่อง จนกระทั่งให้ผักหรือสิ่งนั้นงอกขึ้นมาเป็นประโยชน์ได้ ต้องอาศัยทุกอย่างในชีวิตของคน คือทุกสาขาของความรู้ที่ต้องผ่านมา...”
พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแก่คณะนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เนื่องในโอกาสเสด็จทรงดนตรี วันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514
หมวดอักษร ข ชื่อภาพ พันธุ์ข้าวพระราชทาน
ภาพโดย คุณสุกฤษฏิ์ หิรัญสารพงศ์
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชประสงค์ที่จะช่วยเหลือเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ทรงทุ่มเทศึกษาวิจัยด้านการเกษตรต่างๆ เพื่อให้เป็นตัวอย่างและเป็นแหล่งความรู้ โดยเฉพาะการทดลองเกี่ยวกับการผลิตข้าวอย่างครบวงจร ภายในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน
ในปี พ.ศ. 2504 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมการข้าว (ปัจจุบันคือกรมวิชาการเกษตร) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดำเนินการจัดทำแปลงนาในบริเวณสวนจิตรลดา นำพันธุ์ข้าวต่างๆ มาปลูกทดลองเพื่อทำการศึกษา โดยในครั้งแรกทรงขับรถไถนาเตรียมแปลงปลูกข้าว หว่านข้าว และทรงเกี่ยวข้าวด้วยพระองค์เอง และในวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2504 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีทำขวัญหรือขวัญแม่โพสพขึ้น ณ แปลงนาทดลอง ในระยะที่ต้นข้าวกำลังตั้งท้องรอวันออกรวง ตามประเพณีโบราณ
ปัจจุบันแปลงนาข้าวทดลองเป็นพื้นที่ปลูกข้าวพันธุ์ดี เพื่อส่งเสริมให้ชาวนาปลูกในภาคต่างๆ เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เก็บเกี่ยวได้จากแปลงนาข้าวทดลองจะนำไปใช้ในพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ และเป็น “พันธุ์ข้าวทรงปลูกพระราชทาน” แจกจ่ายให้กับพสกนิกรและเกษตรกรทั่วประเทศ เพื่อเป็นสิริมงคลในการประกอบอาชีพ และนำไปปลูกเพื่อขยายพันธุ์ต่อไป
หมวดอักษร ง ชื่อภาพ อ่างเก็บน้ำเขาชะงุ้ม
ภาพโดย คุณวณัฐพงศ์ ชิ้นปิ่นเกลียว
จากผืนแผ่นดินที่เคยถูกใช้อย่างผิดวิธี จนทำให้หน้าดินเสียหาย ขาดความอุดมสมบูรณ์ไม่สามารถปลูกพืชได้ หรือปลูกได้แต่ผลผลิตก็ลดลงไปมาก พื้นที่ถูกปล่อยทิ้งรกร้าง บางส่วนมีการขุดลูกรังไปขาย จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 และมีพระราชดำริ “ให้ดำเนินการศึกษาหาวิธีการปรับปรุงบำรุงดินเสื่อมโทรม ให้สามารถใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกได้ ทดสอบ วางแผนและจัดระบบปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่” จึงเกิดเป็นโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ บนพื้นที่กว่า 849 ไร่ ณ ตำบลเขาชะงุ้ม อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี โดยมีกรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงการเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลัก ดำเนินนโยบายตามพระราชดำรัสของพระองค์ในการพัฒนา ดำเนินการฟื้นฟูพัฒนาแหล่งน้ำเป็นที่ปลูกไม้ยืนต้น โดยมีอ่างเก็บน้ำเขาชะงุ้ม ความจุ 150,000 ลบม. เป็นหนึ่งในแหล่งน้ำหลักที่ใช้สนับสนุนโครงการ รวมไปถึงทำการศึกษาปรับปรุงบำรุงดินในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการปลูก “หญ้าแฝก” ซึ่งเป็นพืชที่มีคุณประโยชน์มากมายมหาศาล มีคุณสมบัติอนุรักษ์ได้ทั้งดินและน้ำ จึงสามารถพลิกฟื้นสภาพแวดล้อมและผืนแผ่นดินที่แห้งแล้ง ให้กลับมามีความเขียวชอุ่มชุ่มชื้น คืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้งในวันนี้
หมวดอักษร จ ชื่อภาพ น้ำผึ้งสวนจิตรลดา
ภาพโดย คุณอภิชญา กำปั่นทอง
โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เป็นโครงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้ทรงริเริ่มดำเนินการทดลองการแปรรูปผลิตผลการเกษตรขึ้น ภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน อันเป็นราชฐานที่ประทับ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 มีวัตถุประสงค์เพื่อจะศึกษา ทดลอง และวิจัยหาวิธีแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับงานทางด้านการเกษตรต่างๆ ซึ่งผลการศึกษาสามารถนำมาประยุกต์ใช้เป็นแบบอย่างให้นำไปปฏิบัติตามได้ นอกจากนี้ยังเป็นการดำเนินการโดยไม่มุ่งหวังผลตอบแทน ทั้งยังมีพระบรมราชานุญาตให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาชมกิจการ รวมทั้งฝึกปฏิบัติงาน เพื่อนำความรู้ไปเป็นแบบอย่างหรือเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพต่อไป
“น้ำผึ้งสวนจิตรลดา” ก็เป็นเช่นเดียวกัน คือเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง โดยการรับซื้อน้ำผึ้งและขี้ผึ้งจากเกษตรกร เช่น จากสหกรณ์ผู้เลี้ยงผึ้งภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ และจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำมาผ่านกระบวนการผลิตอาหารตามมาตรฐานสากล แยกบรรจุในหลอด ขวดและแกลลอนพลาสติก เพื่อจัดจำหน่ายให้กับประชาชนและนำส่งร้านค้าเพื่อจำหน่ายทั่วประเทศ ส่วนขี้ผึ้งจะนำมาผลิตเป็นเทียนขี้ผึ้ง สำหรับใช้ในกิจการงานส่วนพระองค์และงานพระราชพิธี
หมวดอักษร ซ ชื่อภาพ ไบโอดีเซล
ภาพโดย คุณจีรศักดิ์ ซุ่นไร้
ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเล็งเห็นถึงปัญหาเรื่องพลังงานที่ประเทศไทยจะต้องพบเผชิญในอนาคต จึงมีพระราชดำริให้คิดค้นพลังงานจากธรรมชาติที่สามารถนำมาใช้ทดแทนน้ำมันจากปิโตรเลียมได้ การผลิต “ไบโอดีเซล” ก็เป็นหนึ่งในโครงการตามพระราชดำรินั้น ในปี พ.ศ. 2526 มีพระราชดำริให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็กขึ้นที่จังหวัดกระบี่ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ขนาดเล็กที่จังหวัดนราธิวาส จนกระทั่งปี พ.ศ. 2543 โครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาและกองงานส่วนพระองค์ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จึงเริ่มการทดลองนำน้ำมันปาล์มมาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลได้เป็นผลสำเร็จ ในวันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2544 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์ยื่นจดสิทธิบัตร “การใช้น้ำมันปาล์มกลั่นบริสุทธิ์เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ดีเซล” และในปีเดียวกันนั้นเอง โครงการน้ำมันไบโอดีเซลสูตรสกัดจากน้ำมันปาล์ม ก็ได้รับเหรียญทองประกาศนียบัตรสดุดีเทิดพระเกียรติคุณพร้อมถ้วยรางวัล จากงานนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ “Brussels Eureka 2001” ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม