อักขรานุกรม ก-ฮ ให้ภาพเล่าเรื่อง ตอน [ ญ – ฎ – ฏ – ถ – ท ]
หมวดอักษร ญ ชื่อภาพ นางพญาเสือโคร่ง
ภาพโดย คุณจิรอนันต์ ปินอินต๊ะ
ดอกนางพญาเสือโคร่งบานสะพรั่งสดใส ณ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่(ขุนวาง) ซึ่งเป็นหนึ่งในสถานที่ชมดอกนางพญาเสือโคร่งที่สวยที่สุดในประเทศไทย แต่ใครเล่าจะรู้บ้างว่า หากย้อนกลับไปก่อนปี พ.ศ. 2525 พื้นที่บริเวณนี้อาจยังไม่งดงามเทียบเท่าทุกวันนี้ เพราะท้องทุ่งแห่งนี้ยังมีการปลูกฝิ่นอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินมายังบ้านขุนวาง ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ จึงมีพระราชดำรัสให้กองพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ดำเนินการใช้พื้นที่แห่งนี้เป็นสถานที่ทดลองและขยายพันธุ์พืชบนที่สูง ช่วยส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เกษตรกรบนที่สูง เพื่อจะได้มีรายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ เต็มไปด้วยแปลงไม้ผลเมืองหนาวนานาชนิด อาทิ สาลี่ พลัม ท้อ แนคตารีน และสตรอว์เบอร์รี่ แปลงกาแฟ โรงกระเทาะเปลือกกาแฟ และแปลงทดสอบพันธุ์แมคคาเดเมีย โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวราวกลางเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ดอกนางพญาเสือโคร่ง หรือซากุระดอย จะพากันออกดอกสีชมพูสว่างไสวเต็มต้น ประดับประดาตกแต่งให้ดอยขุนวางสวยสดงดงามกลายเป็นสีชมพูไปทั่วทั้งดอย
หมวดอักษร ฎ ชื่อภาพ เกษตรทฤษฎีใหม่
ภาพโดย คุณจีรศักดิ์ ซุ่นไร้
การปลูกกล้วยในระบบยกร่องพร้อมเลี้ยงกบแบบธรรมชาติ ณ พื้นที่ขยายผลตามโครงการปิดทองหลังพระ อ่างเก็บน้ำห้วยตาดข่า จ.อุดรธานี พื้นที่บริเวณนี้ได้ยกร่องขึ้นมา เพื่อให้น้ำจากอ่างเก็บน้ำไหลเวียนไปตามท้องร่อง บนร่องปลูกกล้วยน้ำว้า ขณะที่บริเวณท้องร่องก็ปล่อยให้กบใช้ชีวิตเจริญเติบโตและหากินตามธรรมชาติจากแมลงในท้องร่อง เป็นการช่วยกำจัดแมลงให้กับต้นกล้วยโดยไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมี นับเป็นอีกหนึ่งแนวคิดซึ่งงอกงามออกมาจาก “การเกษตรทฤษฎีใหม่” ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานให้พสกนิกรชาวไทย มีขั้นตอนดำเนินงานดังนี้ 1)ทฤษฎีใหม่ขั้นต้น เพื่อสร้างเสถียรภาพของการผลิตและอาหารประจำวัน เป็นเศรษฐกิจพึ่งตนเองมากขึ้น มีการจัดสรรพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ตามอัตราส่วน 30:30:30:10 เมื่อเข้าใจในหลักการและลงมือปฏิบัติตามขั้นที่หนึ่งจนได้ผลแล้ว ก็ควรจะพัฒนาไปสู่ 2)ทฤษฎีใหม่ขั้นกลาง คือให้รวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ ร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินการในด้านการผลิต การตลาด ความเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา สังคมและศาสนา 3)ทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า เมื่อมีรายได้ดีขึ้น ฐานะมั่นคงขึ้น เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรก็ควรพัฒนาก้าวหน้าไปสู่การติดต่อประสานงาน เพื่อจัดหาทุนหรือแหล่งเงินมาช่วยในการทำธุรกิจ ในการลงทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยทั้งฝ่ายเกษตรกรและฝ่ายเงินทุน จะได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน
หมวดอักษร ฏ ชื่อภาพ ปฏิรูปที่ดิน
ภาพโดย คุณเศกศึก กันทับ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชดำริว่า การปฎิรูปที่ดินนับเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินเป็นของตนเองได้ ในปี พ.ศ. 2518 พระองค์ท่านจึงพระราชทานที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปที่ดินในประเทศไทย จำนวนพื้นที่ประมาณ 44,369 -0-87 ไร่ ใน 5 จังหวัด คือ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม ฉะเชิงเทรา และนครนายก ปัจจุบันมีเกษตรกรจำนวน 2,976 ราย เข้าทำประโยชน์ในที่ดินผืนนั้น พร้อมทั้งยังมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน คลองส่งน้ำ คลองระบายน้ำ และมีการขุดสระน้ำเพื่อการเกษตรอีกด้วย
นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชยังได้พระราชทานพระบรมราโชบายเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดิน มีพระราชประสงค์ให้เกษตรกรผู้เช่าที่ดินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์อยู่เดิม ได้ทำกินอยู่ในที่ดินนั้นตลอดไปชั่วลูกชั่วหลาน ทว่าจะไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น โดยในการจัดตั้งชุมชนพักอาศัยหรือการพัฒนาต่างๆ จะต้องสอดคล้องกับสภาพดั้งเดิมของท้องถิ่น และให้รวมกลุ่มเกษตรกรจัดตั้งเป็นสหกรณ์ดำเนินธุรกิจเพื่อประโยชน์ของสมาชิก นับได้ว่าเป็นการผสมผสานแนวคิดเรื่องการจัดการที่ดิน การพัฒนาที่ดิน และการพัฒนาสถาบันสหกรณ์เข้าไว้ด้วยกัน
หมวดอักษร ถ ชื่อภาพ ถุงยังชีพพระราชดำริ
ภาพโดย คุณเทิดทูน กัลยา
เมื่อใดก็ตามที่ประเทศไทยประสบปัญหาภัยพิบัติต่างๆ จนทำให้ประชาชนชาวไทยต้องเดือดร้อนยากลำบาก สิ่งหนึ่งซึ่งเรามักจะได้พบเห็นเสมอ เพื่อช่วยผ่อนคลายบรรเทาทุกข์ของปวงราษฎรก็คือ ถุงยังชีพพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถุงยังชีพพระราชทานมีต้นกำเนิดในปี พ.ศ. 2505 เมื่อครั้งเกิดโศกนาฏกรรมมหาวาตภัยแหลมตะลุมพุก ในเขตพื้นที่ 9 จังหวัดภาคใต้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชกระแสรับสั่งให้ช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต ประกาศเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาบริจาคทรัพย์สินและสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยทรงรับและพระราชทานสิ่งของให้แก่ประชาชนด้วยพระองค์เอง เพียงระยะเวลา 1 เดือน มีผู้บริจาคทรัพย์ถึง 11 ล้านบาท และสิ่งของประมาณ 5 ล้านบาท ส่วนผู้ที่ไม่สามารถบริจาคทรัพย์และสิ่งของได้ก็บริจาคแรงงาน โดยมีอาสาสมัคร ซึ่งส่วนมากเป็นนิสิต นักศึกษา ลูกเสือและนักเรียน ทำการจัดและขนส่งสิ่งของเหล่านั้นไปบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชน นับเป็นจุดกำเนิดของถุงยังชีพพระราชทานและมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ซึ่งชื่อของมูลนิธินี้หมายความว่า “พระราชา” และ “ประชาชน” อนุเคราะห์ซึ่งกันและกัน
หมวดอักษร ท ชื่อภาพ ลุ่มน้ำทอน
ภาพโดย คุณจีรศักดิ์ ซุ่นไร้
ผลผลิตที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวมาในวันนี้ มากมายเพียงพอที่จะแปรเปลี่ยนไปเป็นของใช้อื่นๆที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตได้ การกินดีอยู่ดีของเกษตรกรแถบลุ่มน้ำทอนในวันนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากจุดเริ่มต้นเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 และ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาวางโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทอน(ตอนบน) และเขื่อนทดน้ำที่ลำห้วยทอนและที่ห้วยสาขาของห้วยทอน เพื่อจัดหาน้ำให้กับราษฎรในเขตอำเภอศรีเชียงใหม่ อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย และอำเภอบ้านผือ อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี รวมไปถึงให้มีการพัฒนาจัดหาแหล่งน้ำให้กับพื้นที่บริเวณหมู่บ้านวังน้ำมอก บ้านดอนขนุน บ้านภูพนังม่วง และหมู่บ้านอื่นๆที่ตั้งอยู่ใกล้ป่าต้นน้ำห้วยทอน และในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2539 ได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติม ให้พิจารณาดำเนินการก่อสร้างระบบส่งน้ำของอ่างเก็บน้ำห้วยทอน โดยจัดส่งน้ำไปเติมให้กับสระเก็บกักน้ำประจำไร่นาของราษฎร จึงเป็นที่มาของโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำทอนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในเขตโครงการได้ถึง 41,200 ไร่ พร้อมทั้งยังดูแลรักษาระบบนิเวศของป่าต้นน้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ สร้างจิตสำนึกและเพิ่มเครือข่ายในการดูแลและอนุรักษ์ทรัพยากรด้านป่าไม้ โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ทำให้คนอยู่กับป่าได้อย่างสมดุล