หมวดอักษร  ชื่อภาพ ฟาร์มกบบูลร็อก
ภาพโดย คุณวีรพงษ์ ธนวงศ์อุดม

งานอนุรักษ์และการพัฒนาอาชีพการเพาะเลี้ยงกบ เป็นหนึ่งในโครงการของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติบริเวณป่าขุนแม่กวง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชดำริจัดตั้งขึ้นเมื่อ 11 ธันวาคม พศ. 2525 โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้เป็นศูนย์กลางในการศึกษา ทดลอง หารูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมกับพื้นที่ภาคเหนือ เพื่อให้เกษตรกรมีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัว

ในการเพาะเลี้ยงกบโดยวิถีเกษตรธรรมชาตินั้น จะต้องคํานึงถึงการใช้ประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่รอบข้าง แล้วนํามาพัฒนาเพื่อใช้เพาะเลี้ยงกบให้ได้ประโยชน์อย่างสูงสุด อาศัยวิธีการดําเนินงานในรูปแบบที่เรียบง่าย ประหยัด ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศ ต้องปลอดภัยจากสารเคมีตกค้างทางการเกษตร และไม่เป็นอันตรายต่อผู้เพาะเลี้ยงและชุมชนข้างเคียง

 

หมวดอักษร   ชื่อภาพ ะเขือเทศ 
ภาพโดย K.Wanida Tuptawee

มะเขือเทศออกผลงดงาม ให้เกษตรกรชาวเขาในโครงการหลวงได้ชื่นชมผลผลิต ณ แปลงปลูกผักบนพื้นที่สูงของสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง  ซึ่งตั้งอยู่บนดอยอ่างขาง ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,400 เมตร มีพื้นที่ที่ใช้ทำการเกษตรในงานวิจัยประมาณ 1,989 ไร่

สถานีเกษตรหลวงอ่างขางเป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง อันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม ทดแทนการปลูกฝิ่น ใช้เป็นสถานีวิจัยและทดลองปลูกพืชเมืองหนาวชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ผล ผัก และไม้ดอก เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรชาวเขาในการนำพืชเหล่านี้มาเพาะปลูกเป็นอาชีพ  โดยทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1,500 บาท เพื่อซื้อที่ดินและไร่จากชาวเขาในบริเวณดอยอ่างขางส่วนหนึ่ง จากนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งโครงการหลวงขึ้นเป็นโครงการส่วนพระองค์ เมื่อปี พ.ศ. 2512

 

หมวดอักษร   ชื่อภาพ  มลิ้นจี่ผสมอัญชัน
ภาพโดย คุณอภิชญา กำปั่นทอง

ผักและผลไม้สดจากโครงการหลวง ได้ถูกนำมาแปรรูปใหม่เพื่อเพิ่มมูลค่า เป็นผลิตภัณฑ์ทาขนมปังที่มีคุณภาพ โครงการหลวงเป็นโครงการส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในการส่งเสริมการปลูกพืชเมืองหนาวแก่ชาวเขา เพื่อหารายได้ทดแทนการปลูกฝิ่น ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2512 โดยมีหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นผู้รับผิดชอบในฐานะประธานมูลนิธิโครงการหลวง

สินค้าส่วนใหญ่ของโครงการหลวง เป็นผลผลิตที่มาจากเกษตรกรซึ่งอาศัยอยู่ตามพื้นที่สูงของจังหวัดต่างๆมากกว่า 25,000 ครัวเรือน ทั้งที่เป็นผลผลิตสดจากดอย เช่น ผัก ผลไม้ ดอกไม้ ไม้ประดับ สมุนไพร ชา กาแฟอราบิก้า เห็ด พืชไร่ชนิดต่างๆ และผลิตภัณฑ์แปรรูป รวมถึงสินค้าหัตถกรรมจากฝีมือของแม่บ้านชาวเขาชนเผ่าต่างๆ และสินค้าอื่นๆ รวมมากกว่า 1,700 รายการ ปัจจุบันโครงการหลวงจัดจำหน่ายสินค้า “ตราโครงการหลวงและตราดอยคำ” ให้กับลูกค้าหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ ซูเปอร์มาร์เก็ต ผู้ส่งออก ผู้แทนจำหน่าย ครัวการบิน ร้านอาหาร โรงแรม ผู้ค้าปลีก และโรงงานแปรรูป นอกจากนี้ยังมีร้านค้าโครงการหลวง ซึ่งเป็นสถานที่จำหน่ายผลผลิตและผลิตภัณฑ์ ทั้งที่จังหวัดเชียงใหม่และกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถหาซื้อสินค้าเหล่านั้นได้โดยตรง

 

หมวดอักษร   ชื่อภาพ ย้อมผ้าคาม
ภาพโดย คุณเทิดทูน กัลยา

ฝ้ายย้อมครามก่อนนำมาทอเป็นผ้าผืนงาม สอนลูกสอนหลานให้สืบทอดงานที่ตนเองรัก เป็นผลงานจากภูมิปัญญาพื้นบ้านตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทย ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย โดยให้คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ตลอดจนใช้ความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ผ้าฝ้ายย้อมครามทอจากเส้นฝ้ายซึ่งผ่านกระบวนการย้อมในน้ำย้อมที่ได้จากต้นคราม นับเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากภูมิปัญญาท้องถิ่น สีครามธรรมชาตินั้นได้มาจากต้นครามซึ่งมีการปลูกกันทั่วไปในพื้นที่แถบภาคอีสานของประเทศไทย ต้นครามเป็นพืชล้มลุก ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดหว่านในพื้นที่ที่เหมาะสมกับการทำไร่ใกล้ทุ่งนา และต้องเป็นพื้นที่ดอนไม่มีน้ำขัง ต้นครามจัดเป็นพรรณไม้พุ่มขนาดเล็ก ความสูงเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 1-1.20 เมตร  เมื่อใบบนเล็กสีเขียวเข้มผิวหม่น จึงพร้อมที่จะเก็บเกี่ยวเพื่อนำมาทำเป็นน้ำครามสำหรับการย้อมเส้นฝ้าย การออกแบบลวดลายบนผ้าฝ้ายย้อมครามนั้นเป็นไปตามจินตนาการของผู้ทอ บางลวดลายจะเป็นลายดั้งเดิมที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ

หมวดอักษร   ชื่อภาพ สะพานงแหนอุตสาหกรรม 
ภาพโดย คุณหรรษา ตั้งมั่นภูวดล

สะพานภูมิพล หรือเดิม สะพานวงแหวนอุตสาหกรรม เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมต่อระหว่างถนนพระรามที่ 3 ถนนสุขสวัสดิ์ ถนนปู่เจ้าสมิงพราย และถนนกาญจนาภิเษกเข้าด้วยกัน ซึ่งถนนทั้ง 4 เส้นนี้ เป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมและท่าเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่หลายแห่ง จึงเป็นที่มาของชื่อโครงการถนนวงแหวนอุตสาหกรรม มีลักษณะเป็นสะพานขึงขนาด 7 ช่องทางจราจร ก่อสร้างขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อคลี่คลายปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเชื่อมโยงเส้นทางการขนส่งจากย่านอุตสาหกรรมในเขตสมุทรปราการกับท่าเรือคลองเตยได้อย่างสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น อีกทั้งเพื่อมิให้รถบรรทุกเหล่านี้วิ่งผ่านเข้าไปยังตัวเมืองหรือทิศทางอื่นๆ นอกจากนั้นยังช่วยเสริมโครงข่ายถนนของกรุงเทพมหานครและสมุทรปราการ ซึ่งเป็นโครงข่ายสำคัญในการขนส่งสินค้าไปยังส่วนต่างๆของประเทศได้อีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2543 และก่อสร้างสำเร็จในช่วงปีมหามงคลที่พระองค์ท่านทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ในปี พ.ศ. 2549