โปรทิป เล่าเรื่อง 7 ข้อควรคิดสำหรับการถ่ายภาพเพื่อการเล่าเรื่อง โดย ZeraroiD - Lifester จำนวนผู้ชม: 16567 29 Jun 18 เคยมีบางท่านเคยบอกกับผมว่า ถ่ายภาพหนึ่งภาพให้ดีมีการเล่าเรื่องในตัวว่ายากแล้ว การถ่ายภาพเป็นชุดสำหรับสำหรับเล่าเรื่องแล้วย่อมยากกว่า แต่ก็ไม่ได้ถึงขั้นยากแบบว่าจนไม่อยากที่จะเริ่มต้นกันนะครับ การฝึกฝนย่อมใช้เวลาเก็บประสบการณ์ และนี่คือ 7 ข้อควรคิดสำหรับการถ่ายภาพเพื่อการเล่าเรื่อง ศึกษาข้อมูลก่อนล่วงหน้า การเริ่มต้นที่ดี คือการเตรียมตัวให้พร้อม เราเองที่เป็นผู้ถ่ายภาพควรรู้จักศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับบริเวณและสถานที่ ๆ เราจะไปถ่าย อาทิเช่น จุดไหนสามารถถ่ายได้ จุดไหนเขาห้ามไม่ให้ถ่าย ความเป็นมาของสถานที่ เส้นทางการเดินทาง มุมลับ ๆ ร้านอาหารแนว ๆ เป็นต้น ให้มองการศึกษาข้อมูลนี้เป็นการเตรียมตัว ๆ เอง เพราะการเตรียมตัวที่ดี จะทำให้การถ่ายภาพของเราสบายขึ้นได้ คิดหัวข้อ (Concept) ที่จะถ่ายภาพ ลองคิดหาแนวภาพ ที่เราอยากจะนำมาเสนอในองค์ภาพรวม (ถือว่าเป็นการศึกษาภาพถ่ายไปในตัวก็ว่าได้) ภาพชุดที่มีแนวไปในทิศทางเดียวกันย่อมเข้าใจง่ายต่อจากการนำเสนอเรื่องราวในตัวมันเอง อีกอย่างการนำเวนอภาพถ่ายภายใต้แนวภาพเดียวกันนั่น ยังทำให้องค์รวมดูเป็นหนึ่งเดียวมากขึ้นอีกด้วย ถ่ายภาพหลาย ๆ แนวเก็บไว้ ไม่ต้องไปยึดติดว่าการที่เราออกมาถ่ายภาพครั้งนี้ เราต้องถ่ายแนวนี้ตลอดเลยนะ คือมันไม่มีความจำเป็นและเป็นการลดทอนความคิดสร้างสรรค์ และโอกาสของตัวเราเองอีกด้วย การถ่ายภาพหลาย ๆ นอกเหนือจะเป็นการฝึกฝนที่ดีแล้วยังเป็นการสร้างโอกาสให้ตังเองในหลาย ๆ มุมมองอีกด้วย มีการจดบันทึกข้อมูลเป็นระบบ ในกระบวนการการถ่ายภาพนั้น นอกเหนือจากการบันทึกภาพที่อยู่ข้างหน้าเราแล้ว การที่เราจะเติมเต็มเรื่องราว เพิ่มเติมรายละเอียดให้กับภาพ และเตือนเราเองถึงรายละเอียดนั้น เราเองควรจะมีการจดบันทึกข้อมูลให้เป็นระบบ ซึ่งนอกเหนือจากข้อดี ๆ ที่ผมได้เอ่ยไปแล้ว การจดบันทึกยังเป็นการสร้างระเบียบในตัวเราเองอีกด้วย ตรวจสอบภาพที่ถ่ายอยู่เสมอ หมั่นตรวจสอบภาพที่เราถ่ายมาอยู่เสมอ เราจะได้มองเห็นจุดที่ควรแก้ ในเวลาและจังหวะที่ยังแก้ได้ ส่วนตัวแล้วภาพที่ผมถ่ายมาแล้วยิ้มนั้น จะเป็นภาพที่ผมเองเห็นแล้วรู้เลยว่าแทบไม่ต้องนำมาทำอะไรหรือปรับแต่งเพิ่มเติมอีกมากมาย ดั่งเห็นผลลัพธ์ของการฝึกฝน ซึ่งในอีกมุมนึงถ้าภาพนั้นผมถ่ายมาแล้ว ผมมาดูแล้วผมว่ามันสามารถที่จะถูกถ่ายมาได้ดีกว่านี้ หรือบางส่วนควรแก้ไข ผมเองก็จะถ่ายใหม่โดยแก้ไขส่วนที่ควรและนำเสนอให้ดีกว่านี้ คัดเลือก – แต่งภาพให้เสร็จ ข้อนี้น่าจะเป็นข้อที่ค่อนข้างยากเลยก็ว่าได้ ซึ่งนั่นก็คือขั้นตอนในการคัดเลือกภาพ ซึ่งเราเองนั่นสำหรับการนำเสนอภาพชุด ภาพแต่ละใบที่เราจะเลือกมาควร มีความคล้องจองกันในองค์รวมกับภาพทั้งหมด ควรจะมีการนำเสนอในรูปแบบโทนและอารมณ์ที่สามารถสื่อถึงกันได้ เคยมรช่างภาพท่านหนึ่งบอกกับผมว่า “อย่าเลือกภาพที่ชอบ แต่ให้เลือกภาพที่ควร” นำเสนอ – เขียนเรื่องจากภาพ ขั้นตอนสุดท้าย ขั้นตอนที่เราจะนำ 6 ข้อก่อนหน้านี้ มามัดรวมเข้าด้วยกันและนำเสนอเรื่องราวของภาพชุดนี้ การนำเสนอในส่วนของเรื่องราวการเขียนเองแล้วก็จะมีอยู่หลากหลายปัจจัย แต่หลัก ๆ แล้วคงเป็นตัวเนื้อเรื่อง การอธิบายที่สอดคล้องเข้ากับอารมณ์และโทนของภาพ ความประติดประต่อที่สามารถเข้าถึงได้ ความเหมาะสมของการใช้ภาษาในการอธิบาย