27 Jun 19

สวัสดีครับวันนี้เราไปถ่ายภาพทิวทัศน์ในธรรมชาติกัน  วันนี้จะลองใช้ประโยชน์จากฟังก์ชั่นของกล้อง ในการถ่ายภาพทิวทัศน์ ในบทความนี้เราจะมาดูการปรับแต่งภาพสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์ เริ่มจากปรับ Picture Style ในโหมดการถ่าย Landscape " หรือโหมด ถ่ายภาพทิวทัศน์ " เพื่อให้โทนภาพเหมาะสำหรับการถ่ายวิว

 

ปรับแต่งภาพโดยใช้การตั้งค่ารายละเอียดใน Picture Style  รูปแบบ Landscape ต้นไม้ใบหญ้า ท้องฟ้าจะมีสีเข้มและโดดเด่นจนเกินไป ผมจึงปรับโทนสีเป็น +1" และความอิ่มตัวของ สีเป็น -2" ซึ่งวิธีนี้จะลดโทนสีเขียวของใบไม้ และช่วยดึงให้ภาพมีความสนใจขึ้น

ในการเน้นรายละเอียดมากๆเช่น ใบไม้และต้นไม้ การตั้งรูปแบบภาพเป็น Fine Detail "เน้นรายละเอียด" จะช่วยให้คุณสามารถถ่ายทอดรายละเอียดต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ  รวมถึงเพิ่มความคมชัดที่ขับเน้นขอบภาพ ซึ่งจะปรับปรุงพื้นผิวของรายละเอียด ให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษคือการลดการสั่นไหวของกล้องให้เหลือน้อยที่สุดระหว่างการถ่ายภาพ สำหรับฉากนี้ ควรเลือกใช้ค่า f/ หรือช่องรับแสง เป็นประมาณ f/8 - f/11 และกำหนดจุดโฟกัสไว้ที่ด้านหน้าจุดกึ่งกลางเล็กน้อยเพื่อให้ภาพชัดลึก แต่ จำไว้ว่า เมื่อช่องรับแสงแคบ จะทำให้รับแสงเข้ามาน้อยลง เหมือนกัน คุณต้องชดเชยด้วยการตั้งค่า Speed shutter ให้ช้าลง หรือ ปรับ ISO ให้สูงขึ้น หรือทั้งสองอย่าง ( ในสภาวะแสงน้อย )

 

พิจารณาเรื่องท้องฟ้าด้วยอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ต้องพิจารณาในการถ่าย Landscape คือท้องฟ้า ภาพวิวทิวทัศน์ ส่วนใหญ่จะเด่นเรื่องฉากหน้า และท้องฟ้า ถ้าถ่ายวิวแล้วฟ้าเน่าก็จะทำให้ภาพหมองลงทันที แต่ถ้าเจอฟ้าสวยๆ ก็อาจใช้ฟิลเตอร์ CP-L หรือ polarizing ช่วยเพิ่มสีสันของฟ้าได้อีก เคล็ดลับอีกนิดในการใช้ CP-L ให้สังเกต เงาของตัวเราเอง พยายามให้เงาของเราตกอยู่ด้านข้าง จะด้านซ้ายหรือ ด้านขวาก็ได้ และให้ถ่ายไปด้านหน้า หรือด้านหลัง เรียกว่ามุม Polarizing จะมีผลทำให้ท้องฟ้าเราเข้มสวยขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

 

การจัดองค์ประกอบของภาพ ( Landscape Composition ) ส่วนมากเราจะใช้ กฎ 3 ส่วน เป็นการแยกส่วน ระหว่าง ฟ้า น้ำหรือดิน ประยุกค์ ใช่ง่ายๆกับการถ่ายภาพ ควรวางสัดส่วนอย่างไร ในการจัดองค์ประกอบอาจใช้เส้นขอบฟ้าไว้ ด้านบนหรือด้านล่างของกฏสามส่วนก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าอยากนำเสนออะไร แม้ว่ากฏนั้นมีไว้แหก แต่ยังไงถ้าทำตามกฏสามส่วน ผลลัพธ์ก็ออกมาน่าพอใจ

 บางทีอาจใช้ในเรื่องของเส้นนำสายตา คือการวางเส้นนำ เพื่อนำสายตาไปยังจุดเด่นที่น่าสนใจ มีลักษณะเป็นเส้น เช่น ถนน ขอบรั้ว เส้นสามารถให้ความลึกของภาพ บอกขนาด และสามารถชี้จุดน่าสนใจได้ และมันก็ยังสร้าง Pattern ด้วยตัวมันเองอีกด้ว

 

บางทีอาจมี subject เข้ามาเกี่ยวข้องในการถ่าย Landscape การจัดองค์ประกอบของภาพนั้น จุดสำคัญของภาพอาจจะไม่จะเป็นที่จะต้องอยู่บริเวณจุดกึ่งกลางภาพเสมอไป  เราสามารถที่จะเปลี่ยนตำแหน่งของจุดสำคัญของภาพเอาไว้ในส่วนอื่น โดยอาจอาศัยหลักของจุดตัด 9 ช่อง ( rule of third) ในการจัดวางตำแหน่งของจุดสำคัญของภาพได้

 

ความสำคัญของเส้นขอบฟ้า เป็นเทคนิคเก่าๆ แต่ยังใช้ได้ดีเสมอ ก่อจะถ่ายลองดูเส้นขอบฟ้าก่อนว่า มันเอียงไหม แม้ว่าจะมาแก้ทีหลังได้ แต่มันจะดีกว่าถ้าถ่ายมาให้ตรงตั้งแต่ในกล้องเลย  องค์ประกอบที่จะทำให้ภาพสวยนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แม้ว่าภาพนั้นไม่มีกฎที่กล่าวมาข้างต้นนั้นก็อาจจะยังเป็นภาพที่สวยได้ หรือภาพบางภาพที่สวยงามเองก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากกฏใดกฏหนึ่งตายตัว ภาพเดียวอาจจะมีเทคนิคเดียว หรือหลายเทคนิค ก็ล้วนแต่ทำให้ภาพสวยงามในแบบของมันได้  ไม่ได้บอกว่าให้ยึดตามกฎเสมอ แต่บางครั้งเราคิด ไม่ออกก็ใช้กฏหรือเทคนิคเหล่านี้ รับรองว่าได้ภาพที่สวยงามอย่างง่ายดาย เพราะสิ่งนี้เค้าคิดกันมาจนตกผลึกมาให้แล้ว ที่สำคัญเราก็ต้องฝึกฝน ความชำนาญคือการทำซ้ำครับ หวังว่าเทคนิคเหล่านี้จะช่วยให้ทุกคนถ่ายภาพได้ดีขึ้น วันนี้ฝากไว้เท่านี้ก่อนเจอกันบทความหน้าครับ