อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา ช่างภาพแนวข่าวและสารคดี ผู้มีผลงานที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก โดยมีรางวัลมากมายการันตีถึงความเฉียบคมในการบันทึกเรื่องราว ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ประเทศไทยหรือต่างประเทศ โดยหนึ่งในผลงานที่สร้างชื่อให้กับเขา คือ การบุกเดี่ยวเข้าไปเก็บภาพโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ในระยะประชิด

ยังมีเรื่องราวและเรื่องเล่าข้างหลังภาพมากมาย ที่เขาไม่ได้ถ่ายทอดให้ใครได้เห็นนัก...


จังหวะชีวิต อาชีพในฝันที่มาจากความบังเอิญ
ผมไม่ได้ตั้งใจที่จะมาเป็นช่างภาพข่าวมาตั้งแต่แรกนะ แต่เป็นการจับพลัดจับผลูมากกว่า ผมเริ่มต้นถ่ายภาพครั้งแรกตั้งแต่ปี 2540 ด้วยกล้อง Canon EOS 50 เป็นเหมือนงานอดิเรกที่ทำควบคู่ไปกับงานประจำ พอถ่ายมาได้สัก 6 ปี ก็เกิดการตัดสินใจครั้งใหญ่ขึ้น ผมลาออกจากการเป็นพนักงานบริษัทออกมาเป็นช่างภาพอย่างเต็มตัว ยังจำได้เลยว่าเดินหอบผลงานที่ถ่ายด้วยฟิล์มสไลด์ไปยังหัวนิตยสารต่างๆ ที่อยากร่วมงานด้วย และงานแรกของผมในฐานะช่างภาพอาชีพคือการถ่ายสารคดีท่องเที่ยว ก่อนที่จะเปลี่ยนสายไปเป็นช่างภาพนิตยสาร จากนั้นก็มีเพื่อนชวนให้ไปเป็นช่างภาพหนังสือพิมพ์ ซึ่งผมเองก็ไม่มีความรู้ด้านนี้มาก่อนเลย พอปี 2549 ก็ออกมาเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ และมาเป็นช่างภาพประจำของรอยเตอร์ตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน



ภาพท่องเที่ยวเมื่อครั้งอธิษฐ์เป็นช่างภาพนิตยสาร


เรียนรู้จากการสังเกตและลงมือทำ
ผมเรียนรู้ด้านการถ่ายภาพโดยใช้วิธีครูพักลักจำ อย่างตอนแรกที่เริ่มต้นถ่ายภาพแลนด์สเคปก็อาศัยการออกไปถ่ายภาพกับรุ่นพี่แล้วพูดคุยถามไถ่ถึงเทคนิคต่างๆ หรือ ตอนที่เป็นช่างภาพนิตยสารที่ต้องถ่ายภาพได้ทุกประเภท ช่วงที่ว่างๆ ผมก็ตามไปช่วยงานรุ่นพี่เพื่อเรียนรู้เบสิคของการถ่ายภาพอย่างการจัดไฟ การถ่ายอาหาร การถ่ายสัมภาษณ์ เป็นต้น หรือขอติดตามเพื่อไปดูการทำงานในสถานการณ์จริง เรียกได้ว่าเป็นการเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยจริงๆ ผมเรียนรู้จากประสบการณ์ทั้งของตัวเองและของคนอื่น แล้วสุดท้ายก็นำผลงานที่ได้ ไปขอคำแนะนำจากบรรณาธิการ เพื่อเอาคำติชมมาพัฒนาตัวเองต่อไป

ภาพข่าวน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2011


ใจต้องพร้อม กายต้องพร้อม ก่อนลงสนามจริง
ตลอดการถ่ายภาพข่าวมาเกือบสิบปี ผมตั้งเป้าหมายในการทำงานไว้ตลอดว่า ไม่ว่าจะถ่ายภาพอะไรก็ตาม จะต้องทำให้ดีที่สุดในทุกงานที่ได้รับมอบหมาย และในทุกๆ วัน เพราะการถ่ายภาพข่าวนั้นหลากหลายมาก มีตั้งแต่กีฬา ไปจนถึงเหตุการณ์ปะทะกัน แล้วก็ต้องนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะการถ่ายภาพข่าวนั้นดูดพลังงานของตัวเองมาก อย่างเช่นการเดินตามถ่ายภาพเหตุการณ์ประท้วง บางครั้งเราต้องเดินตามแกนนำทั้งวันเป็นเวลาหลายชั่วโมง และถ้าหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่เราต้องรีบเข้าไปบันทึกภาพ ถ้าร่างกายไม่พร้อมก็อาจจะพลาดได้ นอกจากนี้ผมยังออกกำลังกายโดยการปั่นจักรยาน เพื่อสร้างความแข็งแรงในการเดินติดตามถ่ายภาพอีกด้วย

ภาพข่าวการประท้วงราคายางพารา


อุปกรณ์ต้องเลือกใช้ตามสถานการณ์
กล้องที่ผมใช้ยืนพื้นคือ Canon EOS 1-D X ส่วนการเลือกใช้เลนส์นั้นต้องแล้วแต่งานในแต่วัน เช่นในวันที่ยุ่งมากๆ ไม่มีเวลาให้เปลี่ยนเลนส์ และต้องการความคล่องตัวในการทำงาน อย่างเช่นเหตุการณ์ปะทะกัน ผมก็จะ EF 16-35mm f/2.8L ll USM และ EF 70-200mm f/2.8 IS ll เป็นชุดหลัก ส่วนในวันที่เบาๆ อย่างเช่นล่าสุดที่ได้ไปถ่ายมาอย่างข่าวแรงงานกัมพูชาเดินทางกลับบ้าน ก็จะใช้เลนส์ฟิกซ์ 3 ระยะ คือ 24mm 50mm และ 135 mm แทน


ไวและเฉียบคมต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ผมคิดว่าหัวใจสำคัญของการเป็นช่างภาพข่าวที่ดีคือจะต้องมีเซนส์ว่าเหตุการณ์จะเกิดที่ไหน อย่างเช่นการออกไปถ่ายภาพการประท้วงหรือเหตุการณ์อื่นๆ มันจะมีเรื่องราวเกิดขึ้นแค่ไม่กี่ที่ ซึ่งเราก็จะต้องไวและเดาให้ออกว่าเรื่องราวนั้นจะเกิดขึ้นที่ไหน และ อ่านให้ออกว่าจะต้องไปรอเก็บภาพที่ไหน เช่น อาจจะต้องปีนรถบัส หรือ ปีนบนเวทีเพื่อเก็บภาพกว้างหรือไม่ เป็นต้น เพราะถ้าช้าไปเพียง 3 วินาทีภาพที่ดีที่สุดก็อาจจะหายไปแล้ว ซึ่งเรื่องพวกนี้สอนกันไม่ได้ ต้องเข้าไปซึมซับบรรยากาศในพื้นที่ด้วยตัวเอง ยิ่งเข้าไปบ่อย ก็จะยิ่งคล่องแคล่ว

ภาพข่าวเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อปี 2011


งานข่าวในความทรงจำ
เหตุการณ์ที่ผมประทับใจที่สุดในการถ่ายภาพข่าว คือ การไปถ่ายภาพข่าวแผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเวลา 25 วัน ซึ่งเป็นการทำงานที่ต้องพึ่งตัวเองมากที่สุด รวมถึงใช้เงินของตัวเองอีกด้วย ได้ไปเกือบทุกจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว และที่สำคัญคือได้เข้าไปใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแบบใกล้มากๆ คือห่างจากโรงไฟฟ้าเพียง 1 กิโลเมตร ซึ่งตรงนั้นเป็นพื้นที่ห้ามเข้า



ภาพข่าวสึนามิ ประเทศญี่ปุ่น



สถานที่ในฝันที่อยากไปบันทึกภาพ
สำหรับผม ผมอยากไปถ่ายภาพในสงครามจริงๆ อยากรู้ว่าตัวเองจะไหวมั้ย เพราะอย่างเหตุการณ์ในบ้านเรา ถึงจะรุนแรงแค่ไหนก็ยังอยู่ในระดับแค่เป็นการประท้วง เพียงแค่เดินออกมาจากพื้นที่นั้นก็เหมือนเป็นอีกโลกแล้ว ทุกคนก็ยังใช้ชีวิตปกติเหมือนเดิน แต่ถ้าไปถ่ายในเมืองที่มีสงคราม เราจะกินอยู่ยังไง ใช้ชีวิตยังไง เดินทางยังไง ตรงนั้นคือสิ่งที่อยากลองและท้าทายตัวผมเองมากที่สุดแล้ว

ภาพข่าวตามหาเครื่องบิน MH370


ประสบการณ์จริง ที่อยากบอกต่อเด็กรุ่นใหม่ที่เข้ามาเป็นช่างภาพข่าว
ช่างภาพข่าวไม่ใช่งานสบายเหมือนกับช่างภาพแบบอื่นๆ ถ้าอยากเข้ามาสายนี้จริงๆ ต้องมีความอดทนเยอะๆ บางทีเราอาจจะรอทั้งวันเพื่อได้ถ่ายภาพเหตุการณ์แค่สองหรือสามนาทีเท่านั้น ซึ่งตรงนี้ต้องใช้ความอดทนอย่างมาก บางครั้ง ผมก็รู้สึกว่าช่างภาพข่าวอาจจะดูมีศักดิ์ศรีไม่เท่ากับช่างภาพแนวอื่น แต่ถ้าเราตั้งใจจริง ช่างภาพข่าวก็จะเป็นคนสำคัญที่จะจุดประกายให้กับสังคมคนข้างเยอะ ทั้งการนำเสนอเรื่องราวหรือความไม่เท่าเทียมกันในสังคมก็ล้วนแต่ต้องอาศัยช่างภาพข่าวและช่างภาพสารคดี

แม้ว่าจุดเริ่มต้นของเขากับอาชีพช่างภาพข่าวอาจจะดูเหมือนโชคชะตานำพามาให้ แต่ผลงานมากมายที่ได้รังสรรค์ตลอด 10 ปีที่ผ่านก็เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า ชีวิตของเขาที่มาถึงจุดนี้ได้ไม่มีคำว่า "บังเอิญ"