โลกทุกวันนี้วิ่งไวเสียเหลือเกิน ทุกวินาทีมีเรื่องราวต่างๆ มากมายเกิดขึ้นพร้อมกันทั่วทุกมุมโลก หนึ่งในกลุ่มคนที่จะต้องวิ่งตามโลกนี้ให้ทันและให้ไวที่สุดนั้นก็คือบรรดาช่างภาพแนวข่าวและสารคดีนี่เอง พวกเขาเหล่านี้เปรียบเสมือนเป็นตัวแทนสายตาของชาวโลกที่จะทำให้เราทุกคนนั้นเห็นความเคลื่อนไหวต่างๆ บนโลกนี้นั่นเอง


หนึ่งในคนไทยฝีมือโปรที่เป็นที่น่าจับตาในกลุ่มนี้ก็คือ คุณรุ่งโรจน์ ยงฤทธิ์ - ช่างภาพข่าวและสารคดีประจำสำนักข่าว european pressphoto agency (epa) ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 สำนักข่าวชั้นนำของโลก เขาเริ่มต้นตามฝันด้วยการอยากเป็นช่างภาพสายงานข่าว จนกระทั่งปัจจุบันไต่ระดับขึ้นไปเป็นมือลั่นชัตเตอร์ระดับสากลได้ในที่สุด เขาฝากผลงานเล่าเรื่องราวไว้บนโลกนี้มากมายซึ่งก็รวมถึงผลงานหมัดเด็ดในปีที่ผ่านมาที่เขาได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในภาพข่าวยอดเยี่ยมของสำนักข่าว epa ประจำปี 2014 อีกด้วย
 


เส้นทางตามฝันสู่การเป็นช่างภาพสายงานข่าวและสารคดี

ผมเรียนทางด้านวารสาร ที่คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ตามหลักสูตรแล้วได้เรียนถ่ายภาพน้อยมากครับ ตอนแรกเลยก็อยากเป็นนักเขียนเสียมากกว่า เพราะเป็นคนชอบอ่านหนังสือด้วย แต่พอได้ลองจับกล้องดูแล้วรู้สึกว่ามันน่าสนุกดี ตอนช่วงที่เรียนอยู่ปี พ.ศ.2535 มีเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่พอดี ผมก็เลยลองลุยไปถ่ายรูปตามถนนราชดำเนินดูบ้าง กลับมาปรากฏว่าไม่มีภาพเลย ใส่ฟิล์มไม่เข้า (หัวเราะ) หลังจากนั้นมาจำขึ้นใจเลย เป็นบทเรียนสำคัญของชีวิต มันทำให้เรารอบคอบกับเรื่องถ่ายภาพไปโดยปริยาย#A0;ปกติผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือพิมพ์อยู่แล้ว เห็นภาพข่าวแล้วรู้สึกว่ามันมีเสน่ห์ สมัยนั้นถ้าพูดถึงช่างภาพคนก็มักจะนึกถึงช่างภาพแฟชั่นบ้าง ช่างภาพถ่ายสารคดีสวยๆ บ้าง แต่ถ้าพูดถึงช่างภาพข่าวคนก็มักจะคิดว่าเป็นช่างภาพที่ถ่ายอุบัติเหตุ #A0;แต่ผมมองว่าเขาเป็นคนเก็บภาพเหตุการณ์ต่างๆ อย่างเหตุการณ์ใหญ่ๆ นี่เวลาเห็นภาพแล้วมันมีเสน่ห์มาก หลังจากนั้นผมก็เลยได้ไปฝึกงานอยู่ที่หนังสือพิมพ์มติชน ยังไม่ได้ถ่ายรูปอะไรครับฝึกอยู่ในห้องมืด ตอนนั้นก็เห็นรูปข่าวเยอะมาก ยิ่งรู้สึกมีเสน่ห์เข้าไปใหญ่ก็เลยสนใจอยากจะเป็นช่างภาพข่าวจริงๆ จังๆ มากขึ้น ต่อมาก็เลยไปขอฝึกงานกับที่หนังสือพิมพ์ The Nation แต่เริ่มทำงานจริงๆ เล่มแรกก็หนังสือพิมพ์แนวหน้าครับ ช่วงนั้นก็เรียนไปด้วยทำงานไปด้วย



จากสำนักข่าวท้องถิ่นสู่สำนักข่าวสากล

จากแนวหน้าก็ย้ายมาอยู่ The Nation อีกทีครับ ทำอยู่ประมาณ 10 ปี ช่วงนั้นมีสำนักข่าวต่างประเทศ epa เข้ามาเปิดในกรุงเทพฯ อันที่จริงเขามีช่างภาพประจำอยู่แล้วคนหนึ่งแต่พอเขาทำได้ 1 ปี เขาก็อยากผันตัวเองไปทำอย่างอื่น ผมรู้จักเขาอยู่แล้ว เขาก็เลยถามว่าสนใจไหม ผมก็เลยลองสมัครดู แล้วก็ได้ทำที่นี่มาจนถึงทุกวันนี้ ก็ประมาณ 10 ปี แล้วครับ




 

ความแตกต่างระหว่างสำนักข่าวในเมืองไทยกับสำนักข่าวต่างประเทศ

หนังสือพิมพ์ไทยเรามักจะให้หัวหน้าช่างภาพเป็นคนตัดสินใจว่าจะไปถ่ายอะไร ไปทำข่าวอะไร แต่สำหรับสำนักข่าวต่างประเทศนี่ช่างภาพแต่ละคนจะต้องคิดประเด็นเอง ไปทำข่าวเอง ไม่มีโจทย์ให้ หลักการเบื้องต้นคือเราต้องมองข่าวให้เป็นว่าข่าวนั้นมีความเกี่ยวข้องกับต่างประเทศแค่ไหน เป็นข่าวที่เขาจะให้ความสนใจไหม มีผลกระทบในวงกว้างขนาดไหน อย่างเรื่องการเมืองเราก็จะโฟกัสไปที่เรื่องใหญ่ๆ เรื่องเศรษฐกิจก็จะโฟกัสไปที่มันมีผลกระทบต่อต่างประเทศ หรือข่าวด้านวัฒนธรรมเองก็ต้องดูว่าต่างประเทศจะให้ความสนใจเรื่องนี้ไหม เป็นต้น

สำนักข่าวต่างประเทศจะเน้นขายภาพเป็นหลัก ฉะนั้นภาพที่เราถ่ายควรจะต้องสื่อสารได้ดี เขาจะไม่กำหนดว่าแต่ละข่าวจะต้องการรูปเท่าไร แต่เราต้องมีประสบการณ์คัดเลือกว่ารูปไหนใช่ รูปไหนสำคัญ ภาพที่ส่งนั้นจะมีอยู่สองกลุ่มใหญ่ๆ คือ

1.รูปมาตรฐาน คือรูปพื้นๆ ที่สามารถสื่อสารได้ตรงประเด็น บอกเหตุการณ์ได้ชัดเจน ดูแล้วเข้าใจไม่ต้องใช้เวลาตีความมาก มุมกล้องอาจปกติ ตัวอย่างเช่น ถ้าไปถ่ายภาพการประชุมผู้นำ ช็อตมาตรฐานที่ต้องเก็บให้ได้ก็คือภาพผู้นำจับมือกัน เป็นต้น

2.รูปเชิงสร้างสรรค์ อันนี้เราสร้างสรรค์ได้เต็มที่เลย แต่อย่าลืมว่าเราถ่ายภาพข่าวอยู่ เพราะฉะนั้นมันก็ต้องเล่าเรื่องราวให้ได้ด้วย โดยมากแต่ละข่าวก็ต้องเก็บทั้งสองแบบ แต่รูปมาตรฐานต้องมาก่อน#A0;พอได้ภาพข่าวเสร็จแล้วเราก็ต้องเขียนบรรยายภาพข่าว (Photo Caption) เป็นภาษาอังกฤษด้วย แต่เราไม่ต้องเขียนข่าวยาวเหมือนนักข่าว เขียนสั้นๆ แต่ก็ต้องได้ใจความ ภาพสัมพันธ์กับเนื่องเรื่อง เล่าเรื่องราวได้ ที่สำคัญให้ยึดตามหลักการเขียนข่าวที่ต้องมี 5W ให้ครบนั่นก็คือ Who,What, When, และ Why
 


3 ภาพประทับใจ

ปกติเรามักจะเห็นรูปกีฬายิมนาสติกเป็นภาพแอคชั่น ท่าทางแข็งแรง สวยงาม แต่รูปนี้เป็นภาพของนักกีฬาเกาหลีใต้กำลังตกจากบาร์พอดี จังหวะนั้นเราโชคดีมาก เราสามารถจับสีหน้าของเขาได้ แล้วมือที่พลาดพร้อมเศษแป้งที่โรยลงมามันได้อารมณ์มากๆ ช่วยเล่าเรื่องได้ดี มันเห็นความผิดหวัง เห็นความผิดพลาด เป็นจังหวะภาพที่เราไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนัก รูปนี้ถ่ายที่งานแข่งขันยิมนาสติกชิงแชมป์โลก 2014 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองหนางหนิง ประเทศจีน แล้วรูปนี้ก็ถูกคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในภาพข่าวยอดเยี่ยมของสำนักข่าว epa ประจำปี 2014 ด้วยครับ



ภาพนี้เป็นอีกมุมแปลกๆ ที่ผมประทับใจ เป็นภาพของแอนดี้ เมอเรย์ (Andy Murray) ที่กำลังเสิร์ฟบอลในการแข่งขัน Thailand Open จังหวะนั้นเราถ่ายลงมาจากมุม Top View ด้านบน จังหวะที่จับได้เป็นตอนที่ลูกเทนนิสกำลังลอยอยู่กลางอากาศตรงปากของแอนดี้พอดี มองแว้บแรกอาจคิดว่าเป็นรูปที่ถ่ายมุมตรง แต่ถ้าดูดีๆ จะเห็นว่ามันเป็นรูปที่ถ่ายจากมุมสูง ออกมาแล้วแปลกดี จังหวะก็พอดีด้วยครับ



ครั้งหนึ่งผมไปถ่ายภาพเพื่อทำสารคดีเกี่ยวกับอุปรากรจีนที่ศาลเจ้าแห่งหนึ่งซึ่งทุกวันนี้มันจะค่อยๆ หายไปจากสังคมแล้ว ปกติคณะแสดงก็มักจะเป็นครอบครัวเดียวกัน หลังจากถ่ายหน้าเวทีเสร็จผมก็เดินไปถ่ายรูปหลังเวทีต่อ ภาพที่เห็นตอนนั้นเป็นคุณยายคนหนึ่งซึ่งพอแสดงที่หน้าเวทีเสร็จแกก็เข้าหลังเวทีเพื่อมาอุ้มหลานป้อนนมต่อโดยที่ยังไม่ได้เปลี่ยนชุดเลย ภาพวิถีชีวิตนี้อาจธรรมดาเมื่อมองเห็นด้วยตาเปล่า แต่พอเก็บมาเป็นภาพถ่ายผมว่ามันมีพลังมาก เต็มไปด้วยเรื่องราวหลายมิติที่เต็มไปด้วยความประทับใจ


เทคนิคการถ่ายภาพงานข่าว

ภาพงานข่าวมันค่อนข้างต่างกับภาพงานอื่นๆ มันเป็นการบันทึกเหตุการณ์และต้องสื่อสารให้ไว ภาพข่าวออกวันนี้พรุ่งนี้มันก็แทบจะหมดอายุแล้ว ฉะนั้นทำงานข่าวต้องไว สิ่งสำคัญมากๆ อีกอย่างของการเป็นช่างภาพสายข่าวก็คือเราจะต้องอ่านหนังสือพิมพ์และเสพสื่ออื่นๆ อย่างสม่ำเสมอ ต้องรอบรู้ให้เป็นนิสัย ตามเหตุการณ์ให้ทัน

สิ่งสำคัญต่อมาต้องเตรียมตัวและอุปกรณ์ให้พร้อมตลอดเวลา เพราะบางทีเราไม่รู้ว่าเหตุการณ์มันจะเกิดขึ้นเมื่อไร เราต้องกระตือรือร้น การพลาดไปแม้เพียงเสี้ยววินาทีก็ทำให้เราอาจพลาดเหตุการณ์สำคัญหรือภาพข่าวสำคัญได้

สิ่งสำคัญข้อสุดท้ายที่อยากแนะนำก็คือต้องเข้ากับคนอื่นให้ได้ มีมนุษยสัมพันธ์ ปรับตัวได้เก่ง เพราะช่างภาพสายข่าวต้องเจอคนหลากหลายประเภทตลอดเวลา บางครั้งการทำข่าวจะต้องเข้าไปอยู่กับแหล่งข่าวให้ได้ ซึ่งบางทีเราอาจจะได้ภาพที่เราคาดไม่ถึงก็ได้ ต้องไม่มีอีโก้ และพร้อมทำงานได้กับทุกคน
 


กล้องคู่ใจ

ผมใช้กล้องและเลนส์หลายประเภทมาก แต่ที่ทดลองใช้ล่าสุดอยาง CANON EOS 7D Mark II สิ่งแรกที่ผมประทับใจเลยก็คือความเร็วในการโฟกัสครับ ผมว่าชุดโฟกัสมันละเอียดยอดเยี่ยมเทียบเท่า CANON EOS 1D X เลยนะ แล้วที่ชอบอีกอย่างก็คือมันน้ำหนักเบา สะดวกต่อการทำงานมากๆ แล้วก็สามารถคอนโทลฟังก์ชั่นต่างๆ ได้ด้วยนิ้วเพียงสองนิ้ว (นิ้วโป้ง กับ นิ้วชี้) แบบไม่ต้องย้ายไปไหน และไม่ต้องละสายตาจากเฟรมถ่ายภาพเลย เวลาเปลี่ยนทุกอย่างสามารถเห็นได้ชัดเจนจากช่องมองภาพ (Viewfinder) ได้เลย จุดเด่นอีกอย่างของ CANON EOS 7D Mark II ก็คือเรื่อง ISO ผมคิดว่ามันสามารถใช้ถ่ายงานกีฬาหรืออะไรที่มันเคลื่อนไหวเร็วๆ ได้ดีเลย อีกอย่างก็คือการถ่ายภาพในที่ที่มีแสงน้อย กล้องรุ่นนี้ก็จะช่วยได้มาก




คุณสมบัติสำคัญของคนที่รักงานภาพข่าว

อย่างแรกเลยต้องฝึกฝนการถ่ายภาพให้ดี ให้รอบด้าน ไม่ใช่ถ่ายสวยอย่างเดียว แต่ต้องรู้จักถ่ายให้เล่าเรื่องราว รู้จักใช้กล้อง รู้จักการควบคุมฟังก์ชั่นต่างๆ ให้ดี เพราะเหตุการณ์ข่าวเราต้องไว บางทีเราไม่มีเวลามานั่งปรับนั่นทดลองนี่ มันต้องฝึกสกิลให้พร้อม พร้อมถ่ายได้ในทุกรูปแบบ รวมถึงรู้จักอุปกรณ์ทุกตัวให้ดี เลือกใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์

อีกสิ่งที่อาจไม่เกี่ยวกับการถ่ายรูปโดยตรงแต่ผมว่ามันมีส่วนมากก็คือการอ่าน เราต้องอ่านหนังสือเยอะๆ การอ่านมันจะทำให้เราเปิดมุมมองโลก เปิดมุมมองความรู้ ให้เรามีข้อมูลอยู่ในหัว ซึ่งบางครั้งมันจะช่วยในการทำงานข่าวมากๆ อ่านเยอะแล้วก็ควรดูภาพให้เยอะด้วย ดูภาพของคนอื่นที่เราไม่รู้จัก เราก็จะเปิดมุมมองด้านภาพถ่ายได้กว้างขึ้น เห็นโลก เห็นความคิด เห็นการสื่อสารของคนอื่น มันจะมาพัฒนาตัวเราเองอย่างไม่รู้ตัว

ผมว่าการถ่ายรูปทุกวันนี้มันง่ายขึ้นมากนะ ทุกคนสามารถเห็นรูปถ่ายตัวเองได้เดี๋ยวนั้นเลย สิ่งหนึ่งที่ทุกคนฝึกได้ก็คือทดลองถ่ายภาพมากๆ ทดลองใช้เทคนิคต่างๆ คือมันเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ตลอดเวลา แล้วก็พยายามหาให้ได้ว่าตัวเองชอบถ่ายภาพแนวไหน ลองหามุมมองใหม่ๆ เทคนิคใหม่ๆ แต่สิ่งที่ผมรู้สึกว่ามันสวนทางกันในสมัยนี้ก็คือยิ่งอะไรง่ายขึ้น โลกกว้างขึ้น เราสามารถเห็นอะไรทั่วโลกได้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น แต่ผู้คนกลับมีความเป็นกลุ่มย่อยมากขึ้น กลุ่มมันเล็กมากเกินไป ทุกคนสนใจอยู่แต่ในกลุ่มของตัวเอง ทั้งๆ ที่โลกมันเปิดกว้าง ก็อยากให้สนใจรอบข้างให้เยอะ สนใจกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่ตนเองบ้าง หรือเปิดมุมมองในการสนใจอะไรใหม่ๆ มันจะช่วยพัฒนาเราได้

สิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือต้องรู้จักผู้คน รู้จักสถานที่ รู้จักข้อมูลของข่าว รู้ว่าใครเป็นใคร ควรหาข้อมูลล่วงหน้าว่าเราจะไปถ่ายใคร เรื่องอะไร เพราะมันจะทำให้เราไม่พลาดเหตุการณ์สำคัญ หรือวินาทีสำคัญ หรือไม่ก็สามารถเกาะติดกับสถานการณ์ได้ดี เกาะติดกับบุคคลนั้นได้ดีถ้าเรารู้ว่าอะไรเป็นอะไร อย่างคนนั้นไม่ชอบคนนี้แต่เล่นบอลอยู่ทีมเดียวกัน ถ้าเรารู้ข้อมูลแบบนี้ เราอาจจะเก็บจังหวะสำคัญบางจังหวะได้ดีกว่าคนที่ไม่รู้อะไรเลย