หลายคนนิยามเขาว่าเป็น ศิลปิน เพราะเขานั้นพยายามสร้างสรรค์งานแสดงภาพถ่ายของตนออกมาอย่างสม่ำเสมอ และถ่ายทอดงานในเชิงคอนเซ็ปต์ได้อย่างดีเยี่ยม แต่สำหรับ เล็ก เกียรติศิริขจร เขาขอนิยามตัวเองว่าเป็น ช่างภาพ เพราะรูปแบบงานที่เขาทำรวมถึงวิธีคิดและการนำเสนอนั้นมีความเป็นภาพถ่ายมากกว่างานศิลปะในแขนงอื่น งานโปรเจ็กต์ภาพถ่ายต่างๆ ที่นอกเหนือจากงานเชิงพาณิชศิลป์ นั้นถูกสร้างขึ้นจากความสนใจเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ในสังคมรอบตัว และเขาทำมันด้วยความรัก ที่สำคัญมันไม่ได้ถ่ายทอดออกมาในรูปแบบงานศิลปะใดๆ มันเป็นเพียงการเล่าเรื่องราวความเป็นจริง ณ กาลเวลาหนึ่งๆ ผ่านวิธีที่เรียกว่าการถ่ายภาพเท่านั้นเอง





เส้นทางสู่ช่างภาพมืออาชีพ

ผมจบคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตอนเรียนก็เริ่มจับกล้องบ้างครับ สมัยนั้นเป็นกล้องฟิล์ม แต่ก็ถ่ายรูปเล่นไปเรื่อย แล้วก็เอาไว้ถ่ายงานของเราเก็บไว้ด้วย พอจบมานี่ก็เริ่มคิดว่าในยุคนั้นแวดวงศิลปะมันค่อนข้างเล็กมาก ทำงานมาส่วนใหญ่ก็ดูกันเอง ตอนนั้นเราเห็นภาพถ่ายตามบิลล์บอร์ด ในนิตยสาร ในโฆษณา เห็นตามที่ต่างๆ เราก็คิดว่าอันนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ดีนะ งานเราน่าจะไปได้ทั่ว มีคนเห็นได้เยอะก็เลยเริ่มสนใจงานด้านนี้มากขึ้น

ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่าอยากให้งานเรามีคนเห็นเยอะๆ (หัวเราะ) ก็เลยตัดสินใจไปเรียนต่อที่อังกฤษ ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นเกือบ 7 ปี ไปเรียนต่อด้านภาพถ่ายที่ The Arts Institute at Bournemouth (ปัจจุบันคือ Arts University Bournemouth) หลังเรียนจบก็เริ่มเข้ามาในลอนดอน ก็ส่งอีเมลล์ไปขอฝึกงานตามที่ต่างๆ ส่งไปหลายที่มาก ส่งร้อยที่อาจจะมีเรียกมาสักสองสามที่นั่นก็เหมือนถูกหวยแล้ว คือปีนึงคนมันจบเยอะมาก ทุกคนก็ทำแบบเรานี่แหละ ผมบังเอิญโชคดีที่มีช่างภาพคนหนึ่งเรียกผมไปฝึกงานเป็นผู้ช่วยช่างภาพ ก็ดีใจมาก ถ้าเขาพอใจเขาก็จะเรียกใช้อีกเป็นครั้งที่สองครั้งที่สาม บังเอิญเคมีน่าจะตรงกันเขาก็เลยเรียกใช้ผมอีก

ช่างภาพที่เรียกผมไปช่วยก็คือ Mariano Vivanco ครับ เขาเป็นช่างภาพอิสระที่มีคอนเน็กชั่นกับแมกกาซีนหัวใหญ่ๆ หลายเล่ม มักจะได้ถ่ายแฟชั่นให้เล่มดังๆ และแบรนด์ดังๆ บ่อยๆ (ตัวอย่างเช่น GQ British, VOGUE British, VANITY FAIR, DAZED&CONFUSED เป็นต้น) แต่พอเรียกผมไปช่วยครั้งที่สามนี่บังเอิญฟลุ๊คมาก ผู้ช่วยประจำเขาลาออก เขาก็เลยถามผมว่าอยากทำประจำหรือเปล่า ตอนนั้นนี่ ดีใจมากเลยครับ ตอบแบบไม่ลังเลเลยว่า ตกลง นับแต่นั้นมาก็เป็นการเริ่มทำงานเป็นผู้ช่วยช่างภาพ จริงๆ จังๆ ที่ลอนดอน อยู่ประมาณ 2 ปี ก่อนที่จะกลับมาเป็นช่างภาพอิสระที่เมืองไทย
 


สายตาพาณิชย์ศิลป์

ในฐานะคนนอกอย่างเราการได้ทำงานที่นั่นมันให้ประสบการณ์และสอนเราเยอะมาก อย่างมีครั้งหนึ่ง Mariano ไปถ่ายงานให้นิตยสารฉบับหนึ่ง ออกกองครั้งนั้นเป็นกองที่ค่อนข้างเงียบ ช่างภาพกับสไตล์ลิสต์เป็นคนไม่พูดมาก แต่ทำงานกันด้วยความเป็นมืออาชีพ ธีมครั้งนั้นเป็นแฟชั่นที่ทำเลียนแบบงานศิลปะ ช่างภาพถ่ายเสร็จสไตล์ลิสต์ดูหน้าจอเสร็จแล้วเขาก็เดินถอยมามองไกลๆ คิดโน่นคิดนี่สักพักแล้วเขาก็เดินไปจัดผ้าที่แบบโน่นนี่นิดหน่อย จัดเสร็จถ่ายมาแล้วแบบ โห! ใช่เลย มันสวยมาก หรืออย่างมีอยู่งานหนึ่งสไตล์ลิสต์ชื่อ Nicola Formichetti (เขาเป็น Fashion Editor ของ Dazed&Confused ในเวลานั้น) เราได้ยิน Mariano นั่งคุยงานกันกับเขา เขาสามารถบอกได้เลยว่าแบบนี้มี reference มาจากไหน ไปดูจาก VOGUE ปีโน้น หน้านี้ เราก็ค่อนข้างอึ้ง เพราะเขารู้ลึก รู้จริง

ปัจจุบันผมเป็นช่างภาพอิสระที่ประจำอยู่ที่เมืองไทยครับ แต่ก็ทำงานให้กับต่างประเทศด้วย งานในเมืองไทยประมาณ 70% งานเมืองนอกประมาณ 30% พอดีมีเพื่อนต่างชาติที่เขาเป็น Photographer Agency แต่ฐานอยู่ที่เมืองไทยนะครับ เขาก็จะมีพอร์ทเราอยู่ รายไหนสนใจเราก็จะไปถ่ายให้ อย่างที่ผ่านมาก็จะมีถ่ายให้ The Financial Times, Colors, Monocle และ M&C Saachi, Paris เป็นต้นครับ งานในเมืองไทยส่วนใหญ่ก็จะถ่ายพวกโฆษณาต่างๆ




สายตาสารคดีศิลป์

ผมถ่ายภาพแบบเชิง Realistic เสียมากกว่า คือผมตั้งใจจะบันทึกเหตุการณ์ที่ผมสนใจและเกิดขึ้นจริงในช่วงชีวิตของผมโดยผ่านมุมมองและการตีความส่วนตัว อย่างในอเมริกานี่มีคนบันทึกภาพไว้เยอะมาก บันทึกโน่น บันทึกนี่ บันทึกทุกเวลา บันทึกทุกเหตุการณ์ บันทึกทุกอณู คือบันทึกเยอะมากจนไม่เหลือช่องอะไรแล้ว (หัวเราะ) แต่ในเมืองไทยยังมีช่างภาพไม่มากนักที่เป็นคนบันทึกเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมและสิ่งรอบตัว ในการทำงานแต่ละครั้งของผม ผมจะคิดถึงคอนเซ็ปต์ก่อนแล้วจึงวางแผนก่อนออกไปถ่าย
 


4 โปรเจ็กต์โดดเด่น


Flowing Through The Wreckage of Despair: โปรเจ็กต์นี้คืองานของเล็กที่แสดงในนิทรรศการ [un] forgotten- อยากลืมกลับจำ อยากจำกลับลืม ร่วมกับ Stephanie Borcard และ Nicolas Metraux สองช่างภาพชาวสวิสฯ ซึ่งถ่ายทอดคนละเรื่องราวแต่สื่อในแก่นเดียวกันออกมาได้อย่างลงตัวแต่ทว่าโดดเด่นกันคนละมุมมอง

มันเริ่มมาจากการที่ผมอยากบันทึกภาพเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ซึ่งถือเป็นน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 50 ปีเลยทีเดียว ตอนนั้นยังไม่ได้คิดว่าอยากถ่ายเพื่อจะแสดงงานอะไร แค่อยากบันทึกเหตุการณ์ไว้เฉยๆ นอกจากภาพน้ำท่วมแล้วผมต้องการอ้างอิงถึงความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงนั้นด้วย เพราะตอนนั้นนักการเมืองมัวแต่ห่วงผลประโยชน์ตน ห่วงแต่จะใส่ชื่อในของบริจาค การขาดความรู้ในการแก้ปัญหาและการตัดสินใจที่ล่าช้า ฯลฯ และภาพเหล่านี้ก็คือผลสูญเสียอันใหญ่หลวงของมัน มันเป็นความเสียหายมหาศาล และภาพนี้ก็จะช่วยย้ำเตือนผลจากความผิดพลาดในวันนั้น


As time goes by: ภาพถ่ายชุดนี้เป็นงานชุดแรกที่ผมทำหลังจากกลับมาจากอังกฤษ เราไปอยู่โน่นมาเกือบ 7 ปี กลับมาแล้วเห็นพ่อแม่แก่ลงมาก เห็นบ้านเราทรุดโทรม เราก็อยากบันทึกเป็นภาพเอาไว้ก่อนเวลาจะพาทุกอย่างไปจากเรา โปรเจ็กต์นี้ไม่ยากเพราะเป็นการบันทึกเรื่องราวของเราเองซึ่งเราค่อนข้างมีความรู้สึกสะเทือนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่แล้ว งานชุดนี้ถูกคัดเลือกไปแสดงในเทศกาลภาพถ่ายที่ สิงคโปร์, ฝรั่งเศส และเนเธอร์แลนด์ ครับ


Lost in Paradise: เป็นโปรเจ็กต์ที่เกี่ยวกับคนต่างจังหวัดที่มาทำงานในกรุงเทพฯ คือเรื่องราวมันเริ่มตั้งแต่ตอนผมเด็กๆ ที่รัฐบาลยุคนั้นตัดสินใจจะพัฒนาประเทศให้เป็น NICs หรือ เป็นเสือเศรษฐกิจตัวที่ห้าของเอเชีย เมื่อพุ่งเป้าเป็นประเทศอุตสาหกรรมทุกคนก็มุ่งสู่เมืองหลวงเพื่อจะได้ร่ำรวยมีชีวิตที่ดีขึ้น แต่การไม่เอาจริงเอาจังของรัฐบาลรวมถึงการคอรัปชั่น ปัญหาการเมือง มากมาย ทำให้ท้ายที่สุดแล้วไทยก็ไม่ได้พัฒนาไปไหนสักเท่าไร คุณภาพชีวิตที่กรุงเทพฯ ก็แย่ขึ้นทุกวัน สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างหนึ่งก็คือการพัฒนาเขตเมืองอย่างรวดเร็วโดยขาดการจัดการที่ดี ในระหว่างขั้นตอนของการพัฒนาเขตเมืองจะมีตึกเก่าที่ถูกทุบทิ้งและมีบริเวณใกล้เคียงที่ถูกทิ้งให้รกร้างจนมีป่าเล็กๆ เกิดขึ้นดูเหมือนพื้นที่ในต่างจังหวัด ในพื้นที่เหล่านี้ผมจะเห็นคนต่างจังหวัดที่มาอยู่ในเมืองกรุงเทพฯ เข้าไปหาอาหาร เช่นพวกพืชกินได้ ไปหาของเลี้ยงชีพ คือสัญชาตญาณคนกรุงไม่มีแบบนี้ ตอนแรกผมอยากแค่จะบันทึกพื้นที่ที่ดูเหมือนต่างจังหวัดในเขตเมืองหลวง แต่พอเราเห็นผู้คนจากต่างจังหวัดมาใช้ชีวิตในพื้นที่เหล่านี้ก็เลยมีการรวมผู้คนเหล่านั้นเข้าไปในรูปด้วย ซึ่งมันทำให้โปรเจ็กต์นี้มีคอนเซ็ปต์ที่แข็งแรงขึ้น คือมันสะท้อนภาพรวมของเหตุการณ์นี้ทั้งในระดับประเทศและระดับบุคคล ตอนแรกเริ่มจากการที่ผมอยากถ่ายบันทึกเก็บเอาไว้เฉยๆ แต่พอทำงานได้ประมาณ 30% ก็มีโอกาสเขียนไปขอทุนกับ QUAI BRANLY MUSEUM ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับศิลปะวัตถุที่เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส โครงการนี้เขาคัดเลือกเอาสามคนจากทั่วโลกไม่รวมทวีปยุโรปและอเมริกา ทำงานเสร็จแล้วเขาก็เชิญให้ไปอัดรูปที่โน่น มีพิธีรับมอบ เขาก็คัดเลือกงานของเรา 13 ชิ้น จาก 22 ชิ้น ไปรวมไว้ในคอเล็กชั่นถาวรของพิพิธภัณฑ์


The Russian Moment: โปรเจ็กต์นี้ไม่เชิงว่าเป็นการแสดงงานด้วยตัวเราเอง คือเมื่อปี 2556 รัสเซียได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศอุตสาหกรรม G-20 ที่เมือง Saint Petersburg เขาเชิญช่างภาพ 20 คน จาก 20 ประเทศที่อยู่ในกลุ่ม G20 ไปสร้างงานภาพถ่ายเพื่อประชาสัมพันธ์ประเทศรัสเซีย งานนี้คนที่เป็นภัณฑารักษ์ที่เรารู้จักเขาส่งงานเราไปให้คนจัดงานดูซึ่งเขาเป็น Photo Editor ของ RIA Novosti สื่อยักษ์ใหญ่ซึ่งเป็นกระบอกเสียงของรัฐบาลรัสเซีย ทาง Photo Editor เขาโอเค แต่เขาลืมไปว่าเราไม่ได้เป็นคนของประเทศไหนในกลุ่ม G20 เลย (หัวเราะ) สุดท้ายเขาเลยใส่โปรไฟล์เราเป็นลูกครึ่งไทย-อินโดนีเซีย งานนี้เขาจะให้ช่างภาพแต่ละคนหาข้อมูลที่ตัวเองสนใจเกี่ยวกับรัสเซียแล้วส่งไปให้เขาพิจารณา ตอนแรกนี่เราอยากถ่ายพวกฐานปล่อยจรวดมาก (หัวเราะ) แต่พอมันเป็นเรื่องเกี่ยวกับกองทัพมันก็ยาก ส่งไปหลายสิบเรื่องมาก สุดท้ายเรื่องที่เขาโอเคก็คือเรื่องเกี่ยวกับช่างซ่อมศิลปะวัตถุ และโบสถ์ของรัสเซีย คือสมัยที่คอมมิวนิสต์มีชัยเหนือราชวงศ์ยึดรัสเซียได้ก็ประกาศตัวว่าไม่มีศาสนา หลังจากนั้นโบสถ์ต่างๆ ก็โดนเผาเรียบ นักบวชจนถึงผู้นับถือศาสนาถูกฆ่าตายเยอะมาก พอผ่านยุคแย่ๆ ไปตอนนี้เขาก็กลับมายอมรับศาสนากันแล้ว เขาก็หันมาบูรณะโบราณสถานต่างๆ คือถ้าเรานั่งรถไปทั่วรัสเซียเราจะเห็นพวกซากโบสถ์เต็มไปหมดเลย เยอะมากจริงๆ ตอนไปถ่ายพวกช่างฝีมือและศิลปะวัตถุเหล่านี้เราก็ได้เห็นสิ่งที่มีคุณค่ามากทั้งในด้านจิตใจของคนบูรณะและคุณค่าของศิลปะวัตถุที่มีต่อประเทศของเขา ภาพถ่ายพวกนี้ถูกนำไปจัดแสดงให้กับบุคคลทั่วไปและผู้ที่มาประชุม G-20 Summit ที่ Saint Petersburg ดู นิทรรศการถูกจัดขึ้นที่ The State Russian Museum

กล้องตัวโปรดกับงานที่ปลื้ม

จริงๆ มันแล้วแต่งานครับ ถ้าเป็นงานอดิเรก หรือโปรเจ็กต์ส่วนตัว ผมชอบใช้กล้องฟิล์มถ่าย ผมชอบใช้ Rolleiflex และ Mamiya RZ แต่ถ้าเป็นงานเชิงพาณิชย์ผมจะใช้กล้องดิจิตอล ตอนนี้ผมใช้ CANON EOS 5D Mark III ผมว่ามันพัฒนาขึ้นมามากจาก Mark II มีจุดโฟกัสเต็มไปหมด ไฟล์ก็ใหญ่กว่าเดิม เวลาถ่ายในที่มืดNoise ในภาพก็น้อยกว่า สามารถถ่ายได้ดีกว่าเดิม มันสะดวกขึ้นเยอะมากครับ
 


ฝากถึงคนที่อยากทำงานถ่ายภาพด้านพาณิชย์ศิลป์

ผมว่าประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญนะ ฝีมือมันพัฒนาขึ้นจากประสบการณ์ มันไม่ใช่ถ่ายภาพได้ ถ่ายภาพสวยอย่างเดียว แต่การถ่ายภาพคอมเมอร์เชียลมันมีการทำงานหลายฝ่าย ทำงานกับหลากหลายคน มันมีโจทย์ที่ต้องทำ ฯลฯ ผมว่าการเริ่มต้นจากการเป็นผู้ช่วยช่างภาพมันจะทำให้เราได้รู้ได้เห็นทุกอย่าง เห็นทุกขั้นตอน ได้ฝึกฝีมือในด้านอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการถ่ายภาพ ได้ฝึกทำงานกับคนอื่น มันเป็นส่วนที่จะทำให้เราเป็นช่างภาพแนวนี้ได้ดีในอนาคต อีกอย่างการเป็นช่างภาพแนวพาณิชย์ศิลป์มันต้องเข้าใจว่าเขาจ้างเรามาทำงาน มันมีโจทย์ ไม่ใช่ว่าไม่ให้เป็นตัวเรา แต่ต้องเอาฝีมือเราทำงานให้เกิดความน่าสนใจพร้อมๆกับตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้ นั่นถือว่ายอดเยี่ยมที่สุด




ฝากถึงคนที่อยากถ่ายภาพเพื่องานศิลปะ

จากการทำงานที่ผ่านมาผมรู้สึกได้จริงๆว่าเราต้องซื่อสัตย์ต่อตัวเราเอง ต่อความคิดและความรู้สึกของเรา รวมถึงซื่อสัตย์ต่อทุกคนรอบข้าง เมื่อเรายอมรับตัวเราเองในแบบที่เราเป็นจริงๆ สิ่งนี้จะเป็นเหมือนฟิลเตอร์ที่จะกรองสิ่งต่างๆ ที่เหมาะสมให้เข้ามาในชีวิตของเราแล้วทุกอย่างก็จะทำงานด้วยตัวของมันเองอย่างเป็นธรรมชาติ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องทะเยอ
ทะยาน