นักเดินทางคนนี้เก็บภาพถ่ายพร้อมเรื่องราวมามากมายหลายรูปแบบตลอดเส้นทางชีวิตของเขา การเรียนมาทางด้านศิลปะประกอบกับจิตวิญญาณของการเป็นนักถ่ายภาพสารคดีที่ฝังอยู่ในสายเลือดทำให้ทุกภาพถ่ายของคุณ เอ-ณัฏฐ์ฐิติ อำไพวรรณ ไม่ว่าจะเป็นโจทย์ไหนก็ตามออกมามีความงามที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวโดดเด่นไม่เหมือนใคร จากช่างภาพสายข่าวมือรางวัลสู่ช่างภาพสายสารคดีท่องเที่ยวที่น่าจับตาจนกระทั่งกลายมาเป็นช่างภาพด้านกาแฟที่ถ่ายทอดเรื่องราวของเครื่องดื่มนี้ได้อย่างน่าหลงใหล ถึงแม้ว่าแต่ละภาพจะมีความงดงามที่แตกต่างกันไปแต่มันกลับสะท้อนตัวตนของเขาไปในทิศทางเดียวกันได้อย่างชัดเจน สิ่งนี้เองที่ทำให้เราอยากลองเดินตามเข้าไปสัมผัสกับเส้นทางอันมีเสน่ห์ของเขา

เส้นทางของการเป็นช่างภาพมืออาชีพ
แรงบันดาลใจมันเริ่มต้นด้วยคำว่า "เราอยากเห็น" อยากเป็นส่วนหนึ่งของเห็นเหตุการณ์ต่างๆ และเป็นผู้บันทึกมันไว้ ผมจบจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ก็เริ่มจับกล้องตั้งแต่ประมาณช่วง ปี 1 ถ่ายทั่วไปไม่ได้เรียนอะไรจริงจัง พอจบมาก็ทำงานสายออกแบบ ทำอยู่ประมาณ 2 ปี สุดท้ายก็ตัดสินใจลาออกไปสมัครเป็นช่างภาพครับ คือตอนนั้นจะมีการออกหนังสือพิมพ์หัวใหม่ขึ้น เขาก็ประกาศรับสมัครช่างภาพทุกรูปแบบ จำนวนมาก เราก็สมัครเข้าไป สุดท้ายก็ได้ทำงานเป็นช่างภาพที่ โพสต์ ทูเดย์ ถือเป็นการเริ่มงานช่างภาพมืออาชีพครั้งแรกในชีวิตเลยก็ว่าได้
ตอนแรกที่เข้าไปเราก็อยากถ่ายภาพสารคดี ทำสกู๊ปโน่นนี่นะ แต่พอเอาเข้าจริงทุกคอลัมน์เขาใช้ช่างภาพรวมกันหมด คือมีกองช่างภาพอยู่ตรงกลาง งานไหนมาก็ไปถ่ายตามที่ได้รับมอบหมาย เวียนกันไป ถ่ายตั้งแต่ภาพข่าวยันภาพไลฟ์สไตล์ จะว่าไปมันก็กลายเป็นเรื่องท้าทายดี ได้ทำงานหลายรูปแบบ ปกติเราถนัดถ่ายภาพเชิงสารคดีเป็นชุดๆ พอมาทำงานข่าวนี่บางทีมันต้องถ่ายแบบรูปเดียวจบ เล่าเรื่องได้ในรูปเดียว แต่ก็โชคดีที่ภาพข่าวไปจนถึงภาพหน้าหนึ่งของโพสต์ ทูเดย์ เขาจะเน้นภาพที่มีแนวความคิด มุมมองใหม่ๆ สวยงามมีศิลป์หน่อย แต่ก็ต้องสื่อความหมายเล่าเหตุการณ์ได้ครบ มันก็เลยกลายเป็นลักษณะเดียวกันกับภาพที่เราชอบ ก็สนุกกับงานไปเรื่อย

ทำงานอยู่ที่โพสต์ ทูเดย์มาได้ 12 ปี ก็ลาออกมาเป็นช่างภาพฟรีแลนซ์ครับ ตอนนั้นจังหวะดีที่ Lonely Planet Magazine เปิดตัวในเมืองไทยพอดีก็เลยได้เป็นช่างภาพอิสระถ่ายสารคดีท่องเที่ยวให้กับเล่มนี้ด้วย ด้วยความที่เราเป็นคนชอบเดินทางอยู่แล้วก็เลยชอบงานนี้มาก แล้วก็ถ่ายให้ Cycling Plus Thailand ด้วย เป็นนิตยสารจักรยานหัวนอกแต่ของผมจะเน้นภาพแนวไลฟ์สไตล์ พอทำฟรีแลนซ์สักพักเราก็มาร่วมหุ้นกับเพื่อนช่างภาพอีกคนหนึ่งเปิดร้านกาแฟ Gallery กาแฟดริป ขึ้น เป็นร้านที่ผูกโยงการถ่ายภาพกับกาแฟด้วย ช่วงนี้ก็ถ่ายภาพกาแฟอยู่เรื่อยๆ คือมันถ่ายด้วยความชอบและหลงใหลส่วนตัวไม่ได้ตั้งใจจะถ่ายจริงๆ จังๆ อะไร แต่พอคนเห็นเราถ่ายมากขึ้นระยะหลังก็เลยถูกจ้างไปถ่ายภาพกาแฟมากเป็นพิเศษด้วย หรือบางทีเขาก็มาขอซื้อรูปเราไปใช้งานบ้าง บางคนก็เห็นว่าเรารู้เรื่องกาแฟเรื่องเครื่องมือดีก็อยากให้ถ่ายรูปให้บ้าง จนตอนหลังก็มีโอกาสร่วมมือกับแฟนทำหนังสือ ที่เรียกว่า กาแฟดริป กับค่าย Post Books ขึ้น ซึ่งแฟนเป็นคนเขียน ส่วนรูปประกอบทั้งเล่มเป็นผมถ่าย
 




ความแตกต่างระหว่างการถ่ายภาพในรูปแบบต่างๆ

เริ่มต้นที่ภาพข่าวก่อน สิ่งสำคัญก็คือเราต้องจับเหตุการณ์ให้ได้ บางทีมันก็เกิดไวมาก ฉะนั้นความจำเป็นอันดับแรกอาจจะไม่ได้อยู่ที่ความสวยงามเป็นหลัก ภาพข่าวไม่จำเป็นต้องดูดีนัก เพราะบางทีเราไม่มีเวลามานั่งจัดองค์ประกอบอะไรมาก ต้องเก็บช่วงเวลาและเหตุการณ์ต่างๆ ให้ทัน แล้วก็ต้องเล่าเรื่องให้ได้ แต่หัวใจสำคัญจริงๆ ก็คือภาพจะต้องสะกดคนดูให้ได้ ทำให้คนประหลาดใจ (Stunning) หยุดดูภาพ แล้วก็ต้องอยากที่จะอ่านเรื่องราวต่อ โดยเฉพาะภาพหน้าหนึ่ง เวลาเราไปที่แผงหนังสือเราจะเห็นหนังสือพิมพ์เรียงทับกันเป็นตับกว่าหลายสิบฉบับ เพราะฉะนั้นภาพหน้าหนึ่งยิ่งจะต้องดึงดูดสายตาและกระตุ้นความสนใจให้ได้มากที่สุด เล่าเรื่องให้ได้ก่อนที่คนจะไปอ่านเนื้อข่าวต่อ แล้วสิ่งที่ดีที่สุดคือภาพนั้นควรจะเล่าเรื่องได้จบภายในภาพภาพเดียวอย่างสมบูรณ์

ส่วนสารคดีท่องเที่ยวหัวใจสำคัญเลยก็คือภาพต้องดึงดูดให้คนอยากไปเที่ยว อยากออกเดินทาง ต้องสร้างความประทับใจให้ได้ อย่างภาพข่าวบางทีเรื่องแปลก เรื่องไม่สวยงาม มันก็ลงได้ถ้ามันเป็นภาพที่เล่าเรื่องเล่าเหตุการณ์ แต่สำหรับสารคดีท่องเที่ยวนี่ตรงกันข้ามเลย ภาพที่ดูแล้วไม่สวย ไม่เชื้อเชิญ ก็ควรหลีกเลี่ยง จุดประสงค์ของภาพถ่ายสารคดีท่องเที่ยวจะต้องสร้างแรงบันดาลใจให้คนอยากไปเที่ยวให้ได้มากที่สุด แล้วบางทีก็ไม่จำเป็นต้องเล่าเรื่องจบในภาพเดียวก็ได้

ส่วนภาพกาแฟหรือแม้แต่ภาพในหมวดอาหารต้องถ่ายแล้วทำให้คนอยากกิน อยากลองชิม ต้องกระตุ้นน้ำย่อยได้ (หัวเราะ) ต้องทำให้รู้สึกว่ามันกินได้ มันน่ากิน ถึงแม้บางรูปจะไม่ใช่อาหารโดยตรง อย่างเช่น การถ่ายรูปการเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟก็ต้องถ่ายให้คนรู้สึกเข้าใจถึงที่ไปที่มาของความอร่อย เพื่อให้ซึมซับเรื่องราวและอยากลองไปชิม

-

ภาพประทับใจ




 

ภาพข่าว

รูปนี้ถ่ายในช่วงปฎิวัติปี พ.ศ.2549 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยครับ มันเป็นรูปที่ผมได้รับรางวัล อิศรา อมันตกุล จาก สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งช่วงเวลาที่เป็นช่างภาพข่าวนั้นผมเคยได้รับ 3 ครั้ง รางวัลนี้จะมอบให้ปีละ 3 ภาพเท่านั้น ถือเป็นรางวัลใหญ่ที่ทรงคุณค่าแห่งวงการหนังสือพิมพ์เลยทีเดียว มันเป็นรูปที่ดูนิ่งและเงียบสงบ ต่างจากรูปการปฎิวัติที่รุนแรงอื่นๆ แต่มันมีพลังในการสื่อสารมาก วันนั้นตื่นไปถ่ายตอนเช้าตรู่หลังจากที่เหตุการณ์ปฎิวัติผ่านไปแล้วหนึ่งวัน คือช่วงนั้นจริงๆ ทำสกู๊ปข่าวอยู่ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่พอมีการปฏิวัติทางออฟฟิศก็เรียกตัวกลับ รูปรถถัง รูปการปฎิวัติมันมีคนถ่ายกันมากมายรายงานข่าวออกไปแล้วตั้งแต่เมื่อวาน ผมก็พยายามจะหามุมมองใหม่ๆ ตั้งใจจะไปถ่ายพานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตอนแสงเช้าๆ นี่แหละ ไปแล้วเจออะไรน่าสนใจก็ค่อยว่ากันอีกที ตอนถ่ายภาพนี้มันเป็นจังหวะที่นกพิราบบินลงมาเดินตรงพื้นพอดี ฟลุ๊คมาก ผมก็เลยรีบเก็บภาพนี้ไว้ พอมีนกพิราบผมว่ามันเล่าเรื่องราวได้อีกเยอะเลย แล้วมันก็ทำให้ภาพมีพลังสื่อสารที่ดีขึ้นมากด้วยครับ

ภาพสารคดีท่องเที่ยว

ภาพชุดนี้ถ่ายที่ มาชู ปิกชู (Machu Picchu) ประเทศเปรูครับ ประเทศแถบนี้คนไทยยังไม่ค่อยไปเที่ยวเท่าไรเพราะมันไกลและใช้เงินค่อนข้างมาก ผมกับแฟนไปมาเมื่อประมาณปี ค.ศ.2012 ตอนนั้นเราวางแผนกันเองทั้งหมด ตั้งใจว่าจะบินไปลงเมืองในระดับความสูงต่ำๆ ก่อนแล้วค่อยเดินทางสู่เมืองที่ระดับสูงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัว ปกตินักท่องเที่ยวทั่วไปอาจจะนั่งเครื่องบินไปลงยังเมืองใกล้ๆ เลยแล้วก็ขึ้นรถบัสไต่ไปจนถึงทางขึ้นมาชู ปิกชู แต่บางทีการที่ร่างกายเปลี่ยนระดับความสูงกระทันหันก็อาจทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ อีกอย่างเราเลือกที่จะเดินเขา (Trekking) ไปอีกทางด้วย มันเป็นเส้นทางสายดั้งเดิมของชนเผ่าอินคาที่ใช้เดินทาง (Inca Trail) เส้นทางนี้จะอ้อมไปอีกฝั่งของเขาอีกลูกหนึ่ง ใช้เวลาเดินราว 3 คืน 4 วัน ฉะนั้นเราต้องเตรียมร่างกายให้พร้อม การไปเส้นทางนี้เราจะได้เห็นมาชู ปิกชู ในมุมที่แตกต่างจากคนอื่นซึ่งมองมาจากมุมสูงบนยอดเขาอีกลูกหนึ่ง ไม่ใช่มุมปกติทั่วไปที่นักท่องเที่ยวเห็น มันสวยมาก คุ้มมากครับ หายเหนื่อยเลย













 

ภาพกาแฟ

เราเริ่มรู้จักกาแฟจากการเป็นผู้บริโภคซึ่งมันเป็นปลายสุดของห่วงโซ่วัฎจักรกาแฟเลย แต่พอเราเริ่มมาคลุกคลีมากขึ้น #A0;เริ่มเข้าถึงกระบวนการทำตั้งแต่การปลูก เก็บเกี่ยวเมล็ด การคั่วเมล็ด อุปกรณ์ทำกาแฟ ไปจนถึงการกลั่นออกมาเป็นน้ำสีดำๆ ให้เราได้จิบ พอมันรู้ทั้งกระบวนการมันยิ่งอินเข้าไปใหญ่ ผมได้มีโอกาสเก็บภาพกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่จุดเริ่มต้น อย่างตอนที่ขึ้นดอยไปคลุกคลีกับชาวเขาเผ่าอาข่าที่หมู่บ้านแม่จันใต้ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เราได้เห็นขั้นตอนทั้งหมดจนกระทั่งถึงการทำกาแฟ มันประทับใจมาก ผมว่าเป็นเซ็ตภาพถ่ายเรื่องกาแฟที่สมบูรณ์ที่สุดและผมชอบมากที่สุดเลยทีเดียว














-

อุปกรณ์คู่ใจ

ผมใช้กล้อง DSLR ของ Canon มาตั้งแต่สมัยแรกๆ จนกระทั่งพัฒนามาเป็นกล้อง Full Frame ซึ่งผมชอบมาก คือเราเริ่มใช้กล้องมาตั้งแต่ยุคฟิล์ม พอมายุคกล้องดิจิตอลแรกๆ มันทำให้เสน่ห์ของภาพถ่ายบางอย่างหายไป มุมมองของภาพที่ออกมาไม่เหมือนเดิม แถมคุณภาพก็ยังด้อยกว่ากล้องฟิล์มอยู่ แต่พอมันพัฒนามาเป็น Full Frame อะไรหลายๆ อย่างมันถูกแก้ไขให้ดีขึ้น คุณภาพสามารถทัดเทียมกับกล้องฟิล์มได้ มุมมองก็ไม่เพี้ยนไปมากและได้ภาพที่ดีเหมือนถ่ายจากกล้องฟิล์ม มันให้อารมณ์เหมือนได้กลับมาถ่ายกล้องฟิล์มอีกครั้ง ประทับใจมากครับ

โดยส่วนตัวแล้วผมไม่ชอบใช้กล้องรุ่นใหญ่ตัวท็อปสักเท่าไร ตัวที่ผมชอบที่สุดก็คือ Canon EOS 5D ทุกซีรี่ย์เลย ผมว่ามันกำลังดีนะ ที่สำคัญน้ำหนักเบา ตัวไม่ใหญ่จนเกินไป พกพาสะดวก มันลงตัวกับเราที่สุด ด้วยความที่เป็นนักเดินทางและถ่ายภาพแนวสารคดีด้วย เราต้องพกกล้องไปไหนมาไหนตลอดเวลา เรื่องน้ำหนักและความคล่องตัวจึงสำคัญ ผมเลือกเก็บแรงเอาไว้แบกเลนส์ดีกว่า (หัวเราะ) บางทีกล้องที่เทอะทะมากๆ ก็เป็นอุปสรรคกับงานได้ อีกอย่างเวลาไปถ่ายในชุมชนหรือถ่ายคนนั้นกล้องตัวที่ใหญ่เทอะทะมันดูน่ากลัว ไม่เป็นมิตรกับคนเท่าไร บางคนเจอกล้องใหญ่ก็จะเกร็ง เราจะไมได้ภาพที่เป็นธรรมชาติ บางทีเขาก็ไม่ให้ถ่ายเลย แอบถ่ายก็ยาก เก็บภาพสเน็ปก็ยากกว่า กล้องที่ขนาดพอดีน้ำหนักเบาจึงเหมาะที่สุด





 

เทคนิคส่วนตัวของการถ่ายภาพคนแนว Portrait และถ่ายภาพวิวทิวทัศน์แนว Landscape

ก็ไม่เชิงเป็นเทคนิคนะครับ ผมมองว่าเป็นสไตล์และวิธีการถ่ายภาพให้ออกมาดีมากกว่า อย่างการถ่ายคนหลักใหญ่หัวใจสำคัญเลยก็คือเรื่องอารมณ์ (Mood) ทั้งอารมณ์ของคนที่ถูกถ่าย และอารมณ์ของภาพที่ออกมา มันต้องให้ตรงกับเรื่องราวที่เราต้องการจะสื่อสาร อีกอย่างก็เรื่องของจังหวะ จังหวะที่ดีจะทำให้ภาพดูมีเสน่ห์ขึ้นมาทันที บางทีมันก็ควบคุมไม่ได้ หรือบางทีมันก็มาแบบเผลอๆ แต่ถ้ามันมาพร้อมกันได้ก็จะเยี่ยมมาก หรือถ้าเราจับจังหวะและอารมณ์ให้เป็นมันก็ช่วยได้เยอะ

ถ้าเป็นภาพวิวทิวทัศน์หรือการถ่าย Landscape สิ่งสำคัญก็คือตำแหน่งที่เรายืนถ่ายและเวลาในการถ่ายภาพ ต้องหาตำแหน่งที่ยืนแล้วภาพออกมาดูสวยอย่างที่เราต้องการจะสื่อ บางทียืนขยับไปแค่ 1 ก้าว ภาพเราก็เปลี่ยนแล้ว อาจสวยขึ้น หรือแย่ลง ต้องหาตำแหน่งที่ต้องการให้ได้ ช่วงเวลาก็สำคัญ นอกจากจะทำให้ภาพสวยด้วยอารมณ์ที่ต่างกันได้แล้ว เวลายังช่วยสื่อสารเรื่องราวได้ดีขึ้นด้วย อย่างช่วงเช้ากับช่วงกลางคืนมันก็บอกเรื่องราวที่ต่างกัน เลือกเวลาให้เหมาะกับเรื่องที่เราจะสื่อ

ภาพที่ยังไม่เคยถ่ายและอยากลองประสบการณ์ใหม่ๆ

อยากถ่ายภาพแนวสารคดีกีฬาครับ อันที่จริงตอนเป็นนักข่าวก็เคยได้ถ่ายภาพกีฬาบ้าง แต่มันมักจะเป็นภาพข่าวเล่าเรื่องทั่วไปเฉยๆ ไม่มีอะไรมาก คือด้วยความที่เราไม่ได้เป็นนักข่าวสายกีฬาโดยตรงด้วยก็เลยอาจไม่ได้คลุกคลีมาก จะได้ไปถ่ายแบบวันแข่งขันเสียมากกว่า แต่อยากลองถ่ายสารคดีกีฬาดู อยากถ่ายมันออกมาเป็นเรื่องราว ตั้งแต่ฉากหลังของการฝึกซ้อมไปจนถึงฉากหน้าของการแข่งขัน ผมว่าเรื่องราวของนักกีฬามันมีอะไรน่าสนใจเยอะ ภาพที่ออกมาน่าจะเล่าเรื่องได้อย่างมีเสน่ห์