เป็นเวลานานกว่าสิบปีที่ คุณภิรักษ์ อนุรักษ์เยาวชน หรือคุณเด๋ย อยู่ในตำแหน่งบรรณาธิการซึ่งมีหน้าที่ดูแลภาพถ่ายและบทความของนิตยสาร art4d ก่อนที่จะออกมาทำสตูดิโอ ถ่ายภาพสถาปัตยกรรมที่ชื่อ SPACESHIFT อย่างเต็มตัว เขาคือผู้อยู่เบื้องหลังภาพถ่ายงานสถาปัตยกรรมซึ่งแฝงความรู้สึกที่มักจะปรากฏอยู่ตามสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อดิจิตอลด้านการออกแบบมากมายทั้งในและต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น art4d Wallpaper HABITUS ตลอดจนเว็บไซต์ที่เกี่ยวกับงานออกแบบสถาปัตยกรรมเช่น archdaily dezeen designboom เป็นต้น
ความรักในงานสถาปัตยกรรมเริ่มต้นจากความผูกพันในวิชาชีพที่ร่ำเรียนในคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อมือข้างหนึ่งถนัดที่จะออกแบบโครงสร้าง ขณะที่มืออีกข้างก็ถนัดในการถ่ายภาพและเล่าเรื่องงานสถาปัตยกรรมที่ได้พบเห็นให้ผู้คนได้รับรู้ เส้นทางที่เขาเลือกเดินทุกวันนี้จึงเป็นเส้นทางของนักถ่ายภาพสถาปัตยกรรม
แล้วมีอะไรเกิดขึ้นระหว่างทางบ้างล่ะ? ถ้าเราจะขมวดเส้นทางหรือสรุปเป็น timeline อย่างย่อๆ ของคุณภิรักษ์ ก่อนที่จะมีกล้องเป็นเพื่อนร่วมอาชีพอย่างในปัจจุบัน ก็คงจะได้ประมาณว่า นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาปนิกฝึกงานที่ประเทศเนเธอแลนด์ พนักงานฝ่ายวัฒนธรรมในดิสนีย์เวิล์ดที่ฟลอริด้า สถาปนิกวัยใสแถวสุขุมวิท นักเขียนและช่างภาพอิสระนิตยสาร art4d และวารสารอาษา บรรณาธิการนิตยสาร art4d นักถ่ายภาพสถาปัตยกรรมแห่ง SPACESHIFT STUDIO ซึ่งเรื่องราวล่าสุดของชีวิตในวงการถ่ายภาพนั้น เราคงจะต้องให้เจ้าตัวเป็นผู้เล่าให้ฟังน่าจะดีกว่า
จุดเริ่มต้นเส้นทางการเป็นนักถ่ายภาพสถาปัตยกรรม
ตอนแรกที่อยู่กองบรรณาธิการ art4d ผมเขียนบทความอย่างเดียวเลย ทำได้อยู่สองปี วันนึงที่ออฟฟิศบอกว่าพี่ช่างภาพไปถ่ายรูปมาลงข่าวไม่ทัน ใครพอถ่ายได้บ้าง ผมก็บอกว่าผมถ่ายได้ ผมมีกล้อง ตอนนั้นเป็นกล้องฟิล์ม#A0; 35 มม. ซึ่งก็ละเอียดพอจะเอามาสแกนลงข่าวครึ่งหน้าได้ และพี่ช่าง ภาพที่ว่าคนนั้นก็คือ พี่สมคิด เปี่ยมปิยชาติ ผู้ก่อตั้ง SKYLINE STUDIO สตูดิโอถ่ายงานสถาปัตยกรรมยุคบุกเบิกในบ้านเราเลย จริงๆ แล้วพี่สมคิด และพี่อรนุช เปี่ยมปิยชาติ เป็นไอดอลของผมมานานแล้ว และเป็นคนสอนให้ผมถ่ายภาพด้านนี้อย่างจริงจัง สมัยที่ทำงานต่างประเทศ ได้เดินทาง ไปดูอาคารที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง ก็ได้แนวการถ่ายภาพของ SKYLINE เป็นแนวทางในการเก็บภาพ สไลด์ฟิล์มเก่าๆ ชุดนั้น ทุกวันนี้ก็ยังเก็บไว้ ผมยังจำภาพโรงงานบนปกนิตยสาร art4d ฉบับปฐมฤกษ์ตอนปี 2537 ได้ดี ตอนนั้นผมเรียนอยู่ที่ศิลปากร เห็นงานพวกพี่ๆ แล้วก็ได้แต่ร้องโอ้ว ฝีมือคนไทยถ่ายเหรอนี่ พอได้มาร่วมงานกัน เราเขียนบทความ พี่คิดถ่ายรูป ก็เลยได้คุยกันบ่อย เรียนรู้แบบครูพักลักจำไปเรื่อย
พอถึงช่วงปี 2547 พี่สมคิดอยากไปทำสำนักพิมพ์ของตัวเอง และไม่รับงานถ่ายภาพแล้ว แกก็เลยหาคนมารับช่วงต่อ แกคงเห็นว่าเราพอจะถ่าย ได้แล้ว และตอนนั้นก็ดูแลกองบรรณาธิการอยู่ด้วย ก็พี่สมคิดก็เลยจัดเทรนด์ผมกับพี่บี (อรัญรัตน์ ประถมรัตน์) ซึ่งตอนนั้นพี่บีเป็นสถาปนิกอิสระ ให้มาช่วยกันทำ SPACESHIFT STUDIO โดยเริ่มจากเรื่องการใช้กล้อง medium format กับ large format ก่อนเลย พอเริ่มชินกับอุปกรณ์หนักทั้ง หลายนั้นแล้ว ก็เริ่มระดมทุนหาซื้ออุปกรณ์ที่เหมาะสมกับการรับงาน ช่วงนั้นก็เริ่มด้วยกล้อง 4x5 ของ Sinar และ 6x6 ของ Hasselblad กินแกลบอยู่เป็นปีเหมือนกัน
นับจากช่วงนั้นถึงปัจจุบัน ความชำนาญในการใช้กล้องกลไกและฟิล์มที่ถูกออกแบบสำหรับใช้ถ่ายงานสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะ ก็ถูกนำมาปรับ ใช้กับกล้อง DSLR เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าในปัจจุบัน กลุ่มลูกค้าเราก็มีหลากหลายกว่าเดิม จากที่เคยมีแต่สำนักพิมพ์ กับ บริษัทสถาปนิก ช่วงหลังก็มีบริษัทโฆษณาหรือไม่ก็เจ้าของโครงการติดต่อมาโดยตรง ลักษณะงานก็หลากหลายขึ้น ช่วงแรกได้ถ่ายแต่อาคารบ้าน เรือนเพื่อลงหนังสือ เดี๋ยวนี้มีได้ถ่ายเครื่องบิน ถ่ายห้องผ่าตัด ถ่ายต้นไม้ใหญ่ คืออะไรใหญ่ๆ อาศัยแสงเงาธรรมชาตินี่ถ่ายได้หมด แต่หลักๆ ก็ยัง เป็นงานถ่ายอาคารสถานที่ เป็นงานในประเทศ ที่ไปบ่อยหน่อยก็พวกเมืองท่องเที่ยวที่มีโรงแรมและอู่อารยธรรมอย่าง ภูเก็ต หัวหิน เขาใหญ่ เชียงใหม่ นานๆ ถึงจะได้ออกไปถ่ายเมืองนอกกับเขาสักที ลูกค้าต่างชาติที่มีตอนนี้เขาจะจ้างเราถ่ายงานในเมืองไทยแล้วส่งไปตีพิมพ์ที่ประเทศเขา
ช่วงสามปีที่ผ่านมา พอเราไม่ได้ทำงานประจำแล้วก็มีเวลามากขึ้น บางทีก็สอนหนังสือบ้าง อัดรูปขายเอาเงินไปบริจาคบ้าง ไปเป็นช่างภาพอาสา สมัครบ้าง ล่าสุดที่ทำอยู่นี่ก็ขึ้นๆ ลงๆ ระหว่าง กรุงเทพ - เชียงราย เราไปช่วยถ่ายห้องเรียนพอดีพอดี ที่ทีมสถาปนิกอาสาของ Design for Disasters ไปช่วยออกแบบโรงเรียน 9 แห่งในเชียงรายที่พังเพราะแผ่นดินไหวเมื่อปีกลาย ตอนนี้ก็มีบางแห่งสร้างเสร็จบ้างแล้ว เราก็ไปทยอยช่วยเก็บภาพให้
โดยส่วนตัวแล้ว คุณภิรักษ์คิดว่าช่างภาพที่เรียนมาทางด้านสถาปัตย์มาจะมีความเข้าใจในการถ่ายงานแนวนี้มากกว่ามั้ย?
ถ้าเริ่มต้นพร้อมกัน เราจะทำความเข้าใจกับอาคารที่อยู่ตรงหน้าได้เร็วกว่า เรารู้ว่าเราจะถ่ายอะไรได้เร็วกว่า เพราะเราเข้าใจภาษาสถาปัตยกรรม ที่สถาปนิกผู้ออกแบบต้องการสื่อสารกับผู้ใช้อาคาร คนทั่วไปอาจจะไม่เข้าใจหรือไม่สนใจ แต่ถึงเราจะได้เปรียบคนอื่นก็จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความ ว่า ช่างภาพที่ไม่ได้เรียนมาทางด้านนี้จะไม่มีความเข้าใจ เพราะถ้าเขาได้เห็นงานเยอะ ดูหนังสือเยอะ ลองถ่ายงานเยอะ ได้คำแนะนำดีๆ จากผู้รู้ เขาก็จะเข้าใจและประจักษ์ได้ว่าแก่นของการถ่ายภาพทางสายนี้มันคืออะไร และนำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางของตัวเองต่อได้
ในสายตาของความเป็นช่างภาพ งานสถาปัตยกรรมที่ดี ควรเป็นแบบไหน?
ในฐานะช่างภาพ ก็ต้องเป็นงานที่มองแล้วรู้สึกได้เลยว่าสวย สวยทั้งสัดส่วนของอาคารสถานที่ สวยทั้งบรรยากาศโดยรอบ เห็นแล้วอยากจะกาง ขาตั้งกล้องทันที เราจะดีใจมากถ้าภาพถ่ายออกมาแล้วเป็นอย่างที่คิด แต่ในฐานะสถาปนิก งานสถาปัตยกรรมที่ดีคือ งานที่จะต้องตอบสนอง การใช้งานและมีปฏิสัมพันธ์ทางความรู้สึกกับผู้คนได้อย่างยั่งยืน ตามหน้าที่ที่มันถูกออกแบบมา ในรายละเอียดมีเยอะ แต่ถ้าให้สรุปก็ประมาณนี้
ภาพถ่ายงานสถาปัตยกรรม (Architectural Photography) เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมในเมืองไทยมาตั้งแต่เมื่อไหร่?
ถ้าดูตามไทม์ไลน์กับความเคลื่อนไหวในวิชาชีพสถาปนิก ก่อนช่วงปีพ.ศ. 2538 ยังไม่เห็นมีใครถ่ายจริงจัง อย่างบริษัทสถาปนิกก็จะจ้างบริษัท โฆษณา หรือช่างภาพต่างชาติที่เข้ามารับงานในเมืองไทย หลังจากนั้นก็เห็นจะมีแต่ SKYLINE STUDIO ของพี่สมคิดและพี่อรนุช ซึ่งทั้งสองคน ไปเรียนที่อเมริกาเกี่ยวกับการถ่ายด้านนี้โดยเฉพาะ รุ่นหลังจากนั้นก็เป็นสถาปนิกรุ่นใกล้ๆ กันกับเราที่ทำงานอยู่ใน SKYLINE อีกสามคน ก็รู้จักและเป็นเพื่อนๆ กัน ปัจจุบันทั้งสามคนก็ยังถ่ายงานด้านนี้ พร้อมๆ กับทำงานด้านอื่นด้วย กลุ่มต่อมาก็เป็นผมกับพี่บีในชื่อ SPACESHIFT หลังจากนั้นก็เป็นพวกสถาปนิกรุ่นน้องที่คณะ ซึ่งเคยมาฝึกงานหรือทำงานกับเรา เขาก็เริ่มเปิดสตูดิโอรับงานของตัวเอง ทุกวันนี้ก็มีสถาปนิก รุ่นใหม่ที่ผันตัวมาถ่ายงานด้านนี้หลายคน ส่วนใหญ่ก็กระจายไปอยู่ตามสำนักพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ ในเรื่องของความเป็นที่นิยม ถึงตอนนี้ก็เรียกได้ว่ามีคนสนใจมากขึ้น แต่ก็ไม่มากเท่ากับสายอื่นที่ได้รับความนิยมกว่าเช่น แฟชั่น โฆษณา แลนด์สเคป พอร์ตเทรต ฯลฯ
งานสายข่าวต้องเร็วต้องไว แล้วสายสถาปัตยกรรมล่ะ?
ผมอยู่สายช้า (หัวเราะ) ช็อตบางช็อต สมัยที่ใช้กล้อง 4x5 (large format camera) แค่ตั้งกล้อง เทสโพลารอยด์ ก็เกือบครึ่งชั่วโมงแล้ว พอมาใช้ กล้อง DSLR เป็นหลัก เราก็มีความคล่องตัวมากขึ้น มุมกล้องโลดโผนมากขึ้น ใช้เวลาตั้งกล้องน้อยลง แต่ก็บวกเวลาในการทำไฟล์เองเพิ่มขึ้นมา แทนที่จะไปล้างฟิล์มที่แล็บ งานของเราช่วงหลังๆ ก็มีการต่อภาพ (stitching) มากขึ้นตามศักยภาพของเลนส์และโปรแกรม ในส่วนของฟีลลิ่งภาพ ระหว่างฟิล์มกับดิจิตัล มันก็เทียบกันไม่ได้อยู่แล้วเพราะเป็นวัสดุคนละอย่าง แต่ก็พยายามทำ output ออกมาให้ใกล้เคียงกันตามที่เราเห็นสมควร
เวลาที่ยืนตั้งกล้อง เรายังอาศัยพื้นฐานการจัดมุมกล้องแบบเดียวกับที่เคยทำกับกล้อง 4x5 คือเลือกมุมก่อนแล้ววางขาตั้งกล้อง จากนั้นค่อยๆ จัด องค์ประกอบภาพด้วยเลนส์ TS-E คือพอมาใช้ DSLR คิดว่ามันเร็วกว่าก็จริง แต่สำหรับการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม ไม่รู้จะเร็วไปทำไม เพราะพอ เราได้มุมแล้ว ก็ต้องยืนรอฝนฟ้าอากาศ รอคนเดินผ่านอยู่ดี ไม่ใช่ว่าเมื่อก่อนถ่ายกล้องฟิล์มถ่ายได้วันละสิบรูป วันนี้ใช้ DSLR แล้วจะถ่ายได้ร้อย รูป มันก็ไม่ใช่ ไม่เกี่ยวกัน สิ่งที่ช่วยเราก็คือ เราเห็นภาพที่ต้องการได้เร็วขึ้น มั่นใจแล้วว่าใช้ได้ มีเวลาเดินมาอีกสามก้าวแล้วเจอมุมคล้ายๆ กันที่น่า ถ่ายเก็บไว้ด้วยก็ซัดเลย แต่ตอนถ่ายกล้องฟิล์มมันทำไม่ได้เพราะต้องรีบไปมุมอื่นก่อนที่แสงจะหมด DSLR ก็เลยมีข้อดีตรงที่เราจะได้มุมกล้อง หลากหลายกว่า คือมีช็อตหลักแล้ว ก็มีช็อตเพิ่มพิเศษให้ด้วย ชอบไม่ชอบไม่ว่ากัน แต่ก็ให้ไปด้วย ไม่มีภาพไหนค้างคาใจว่าไม่ได้ถ่ายเก็บไว้
มีแนวไหนที่ไม่ถนัดถ่ายบ้างมั้ย?
ถ่ายสิ่งมีชีวิตไม่ค่อยได้ คือถ่ายได้ แต่ถ้าเลือกได้ก็ไม่รับงานแบบนี้ อย่างนายแบบนางแบบหรือเด็ก คือไม่สะดวกใจที่จะออกคำสั่ง หรือทำอะไร ที่เรา ไม่ถนัด อุปกรณ์ก็มีจำกัดเฉพาะทาง เคยถ่ายโรงแรมแล้วทางเจ้าของงานขอแถมให้ถ่ายนางแบบกับเครื่องเพชร เคยถ่ายเฟอร์นิเจอร์แล้วขอ แบบมีพริตตี้ มานั่งบนโซฟา ก็เคยมี ก็ถ่ายให้มันเสร็จๆ ไป รู้ว่ามันใช้งานได้ แต่เราอึดอัด เคยมีช่างภาพหลายคนบอกว่าเป็นช่างภาพต้องถ่าย ได้ทุกอย่างซิ เราก็บอกว่าใช่เลย แต่ถ้าเราเลือกได้ก็เลือก อะไรที่ไม่ถนัดก็ให้คนอื่นที่เขาถนัดทำกันไป ส่วนตัวคิดว่าเลือกทำเป็นบางอย่างให้เชี่ยว ชาญกันไปเลย จะทำให้เราได้งานที่ดีกว่า คือทุกวันนี้เราถ่ายงานสถาปัตยกรรม ก็คือถ่ายสิ่งไม่มีชีวิตให้ดูมีชีวิต โดยอาศัยสภาพแวดล้อมโดยรอบ ทั้งภูมิประเทศและภูมิอากาศ อย่างวันไหนฝนตกห้ามไม่ได้ก็รอฝนหยุดแล้วค่อยกลับไปใหม่ วันไหนมีแสงทองตอนเช้า ฟ้าสีครามสวยใส หรือตอน เย็นมีท้องฟ้าสีอมม่วงโผล่มา ก็ถือเป็นของขวัญพิเศษสำหรับเราในวันนั้นไป ผมกับพี่บีจะมีความสุขกับช่วงเวลา และบรรยากาศแบบนี้มากกว่า
แต่ก็มีคนเคยบอกใช่มั้ย ว่าไม่ชอบอะไรแล้วมักจะได้ นี่เลย ปลายปีที่แล้วเราต้องไปถ่ายสถาปนิกศิลปินแห่งชาติ 19 ท่านให้ทางสมาคมสถาปนิก สยามฯ เพื่อใช้จัดแสดงในงานนิทรรศการ 17/80 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หลายท่านเป็นคุณครูทางด้านสถาปัตยกรรมของพวกเราเอง เอาไงดี ก็รับโจทย์มา คิดแบบร่างในหัวอยู่สองนาที ปรึกษากับพี่บีแล้วก็ตกลงรับงานเลย ถ่ายไปเหงื่อตกไป มีน้องๆ เพื่อนๆ มาช่วยกันหลายคน ก็มีเครียดบ้างแต่รู้สึกคุ้ม ที่ได้กลับไปบันทึกภาพครูของเรากับผลงานของท่าน รวมทั้งมีโอกาสได้เสวนากับท่าน คือเป็นงานที่กดดัน แต่ก็ทำด้วยความเต็มใจและมีความสุข
สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อไปถึงสถานที่ที่จะต้องถ่ายภาพ?
ยกมือไหว้เจ้าที่เจ้าทางก่อนเลย เราเป็นคนนอบน้อม จากนั้นค่อยเดินดูรอบๆ ตัวอาคารหรือโครงการ ทั้งภายนอกและภายใน คือระหว่างที่เดินดู พี่บีก็จะทำหน้าที่จดไว้ว่าตรงไหนต้องถ่าย และทำลิสต์ไว้ อันนี้คือกรณีที่ไปแล้วต้องถ่ายเลย ไม่ได้ไปดูสถานที่ก่อน แต่บางงานเราจะได้เข้าดู สถานที่ล่วงหน้าเพื่อให้ทางเจ้าของเตรียมความเรียบร้อยไว้ให้ บางงานสถาปนิกที่ออกแบบจะไปด้วย แล้วก็จะชี้จุดให้ว่าตรงนี้ต้องถ่าย หรือตรงนี้ ตั้งใจออกแบบนะ เป็นไฮไลท์เลย หามุมให้ด้วย เราก็จัดให้ บางทีคุยกันไปเพลินๆ เดินดูงานวิจารณ์ไปเรื่อย มืดพอดี ได้ลองเปิดไฟดู lighting design เตรียม ถ่าย night shot ด้วยเลยก็มี ส่วนมากเป็นงานต่างจังหวัดที่เราต้องเผื่อเวลาเดินทาง
การที่เราใช้เวลาเดินดูพื้นที่โดยรอบ เราจะเห็นและรู้สึกได้ ว่าตรงไหนที่สถาปนิกตั้งใจทำขึ้นเป็นพิเศษ ทำแล้วไม่เหมือนใคร ทำแล้วที่นี่จะพิเศษ กว่าที่อื่นๆ อย่างเช่นตรงนี้ทำไมตรงนี้ต้องทำเป็นผนังกระจก ด้านทิศตะวันออกนะ ไม่ร้อนเหรอ พอเปิดม่าน อ๋อ! มองออกไปเห็นป่าธรรมชาติ 200 ไร่ ก็ข้างในอาคารเป็นล็อบบี้ คนที่อยู่ข้างในน่าจะได้เห็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ที่ทุกวันนี้หาไม่ได้ง่ายๆ แถมยังได้แสงธรรมชาติส่องผ่านเข้ามา ด้วย พี่บีก็จะคอยเตือนว่าถ่ายจากข้างในออกไปข้างนอกเห็นวิวแล้ว อย่าลืมถ่ายจากข้างนอกตอนเปิดไฟเข้ามาด้วย เพราะแสงจากห้องนี้จะสว่าง และมองเห็นพื้นที่ภายในห้องนี้ได้
จริงๆ แล้ว ผมจะคิดเรื่องความเป็น photo essay ด้วยนะ คือภาพที่ถ่ายจะต้องเรียงเป็นซีรี่ย์เพื่อเล่าเรื่องต่อได้ในสื่อสิ่งพิมพ์หรือเว็บไซต์ คือเราติด นิสัยตอนทำนิตยสารมาไง ก็เลยจะเรียงลำดับเรื่องราวให้เขาด้วย ภาพแต่ละมุมจึงมีเรื่องราวของมัน อย่างในบทความหนึ่งเรื่อง ถ้ามีข้อจำกัดว่า จะใช้รูปเพียง10 รูป เราต้องถ่ายเล่าเรื่องให้ได้ครบ ยกตัวอย่างเช่น งานถ่ายโรงแรมริมทะเล เปิดเรื่องมา ก็ถ่ายภาพรวมเห็นอาคารกับทะเล ต่อ ด้วยทางเข้าไปล็อบบี้ เคาน์เตอร์เช็คอิน ห้องอาหาร สระว่ายน้ำ แล้วไปจบที่ห้องพัก ถ้าห้องน้ำหรือระเบียงสวยก็ถ่ายด้วย อย่างลูกค้าเอารูปไปใช้ ทำเว็บไซต์ ทำสิ่งพิมพ์ ทำบิลบอร์ด การลำดับเรื่องราวให้แบบนี้ก็ช่วยให้คนที่นำภาพไปใช้ต่อทำงานได้ง่ายขึ้น ตอนนี้ก็เลยมีลูกค้าอีกกลุ่มที่มาเช่า รูปและให้เราเขียนบทความเป็น contents ในโซเชียลมีเดีย
ปัญหาที่พบบ่อย
สภาพอากาศฝนฟ้าไม่เป็นใจ สภาพหน้างานสถานที่ไม่เรียบร้อย อย่างงานถ่ายคอนโดมิเนียมมีป้ายโฆษณาขนาดใหญ่แขวนอยู่ เป็นพวกป้าย ไวนิลแขวนเต็มตึกเลยก็ต้องขอให้เขาเอาลงให้ก่อน หรือบางทีสายไฟช่างยังไม่ได้เก็บความเรียบร้อย หลอดไฟไม่ติด สระว่ายน้ำไม่ใส กระเบื้องปู ไม่เสร็จ บางเจ้าเขาก็ไม่คิดว่าเราจะต้องถ่ายภาพมุมกว้างซึ่งมันเห็นรายละเอียดทุกอย่าง คือบางทีคำว่าความเรียบร้อยของเขากับของเรามันเป็น คนละเรื่องกัน ซึ่งเราก็ต้องรอให้ทางสถานที่จัดการปัญหาให้เสร็จแล้วค่อยกลับมาถ่ายใหม่ ระหว่างนั้นก็ไปถ่ายจุดอื่นก่อน หรือไม่เดินหาร้านข้าว อร่อยๆ แถวนั้น ตัวก็เลยเป่งเลย (หัวเราะ)
กล้อง DSLR คู่ใจในการทำงาน
ช่วงห้าปีที่แล้วยังถ่ายสองระบบนะ ถ่ายฟิล์มสำหรับนิตยสาร ถ่ายดิจิตอลสำหรับงานโฆษณา พอดีว่ามีบริษัทเฟอร์นิเจอร์ให้เหมาถ่ายโปรดักส์ และโชว์รูมทั้งหมดก็เลยระดมทุนอีกรอบเป็น DSLR เต็มระบบ ทำให้เราทำงานได้คล่องขึ้น สนุกไปอีกแบบ มาถึงตอนนี้ ที่ใช้บ่อยๆ ก็จะเป็น Canon EOS 5D Mark II และ Mark III กับเลนส์แก้ตีฟสองตัวคือ TS-E 17 มม. และ TS-E 24 มม. แล้วก็มี 50/1.8 และ 16-35 / 2.8 LII เอาไว้เก็บ รายละเอียดโครงสร้าง นอกจากนั้นก็มีเลนส์อะแดปเตอร์ Hasselblad to Canon สำหรับบางทีที่ต้องการช่วงเลนส์แปลกๆ ผมก็ไปเอาเลนส์ของ กล้องฟิล์มมาใช้ บอดี้ MarkII นี่ใช้มาห้าปีแล้วนะ เป็น MarkII ตัวที่สอง ตัวแรกโดนขโมยมางัดรถเอากระเป๋ากล้องไปแบบเงียบๆ หน้าบ้านเลย จำได้ว่างานก็ยังไม่ได้แบ็คอัพ ต้องวิ่งไปรูดบัตรเอากล้องกับเลนส์ชุดใหม่กลับไปถ่ายงานเดิมซ้ำอีกรอบ วันนี้เพิ่งเปิดดูรีวิวบอดี้ Canon EOS 5DSR กับเลนส์ 11-24 / 4L ตัวใหม่ ก็หาข้อมูลอยู่ คิดว่าความละเอียด 50 ล้านพิกเซลคงจะช่วยให้เราทำงานง่ายขึ้น คุณภาพไฟล์งานน่าจะดีขึ้น
คำสอนของพี่สมคิด ปรามาจารย์ด้านการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมที่จำได้ขึ้นใจ
พี่สมคิดเป็นนักเล่าเรื่องที่ดีคนหนึ่ง ทุกเรื่องเล่ามักจะมีข้อคิดอะไรดีๆ ให้เราเสมอ อย่างมีครั้งหนึ่งแกเคยบอกว่า ช่างภาพสายเต็ค (architecture) คนที่เก่งกว่าคือคนที่ตื่นเช้ากว่าและอดทนกว่า ตั้งกล้องมุมเดียวกัน ถ่ายเหมือนกัน แต่อยู่ที่ใครจะยืนตรงนั้นได้นานกว่า บางคนไปยืนตรงนั้นตอน เที่ยง ภาพที่ได้มันก็จะดูแข็งๆ แต่ถ้าช่างภาพคนเดียวกันนั้นตื่นเช้าหน่อย เขาก็จะได้ภาพแสงเช้าที่ดูน่าประทับใจกว่าคนอื่น และถ้าเขายอมกิน ข้าวเย็นช้ากว่าคนอื่นอีกสักหน่อย เขาก็จะได้ภาพแสงตอนเย็นที่สวยพิเศษกว่าคนอื่น ซึ่งก็เป็นความจริง ตอนนี้พี่สมคิดเลิกถ่ายงานแล้ว แกบอกว่า สุขภาพแกดีขึ้นมากเลย
จากการที่ได้ถ่ายภาพงานสถาปัตยกรรมมาเป็นสิบปี มีสถานที่ที่ชื่นชอบหรือประทับใจเป็นพิเศษบ้างไหม?
ช่วงนี้ผมจะอินกับงานสถาปัตยกรรมใหม่ที่สร้างขึ้นตามต่างจังหวัด คือมันเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับประเทศไทยที่ผู้คนเริ่มเข้าใจแล้วว่างาน สถาปัตยกรรมหมายถึงอะไร อย่างแถวบ้านผมที่แปดริ้วก็มี KCC (Knowledge Center of Chachoengsao) ออกแบบโดยอาจารย์ต้นข้าว ปาณินท์ เป็นอาคารศูนย์การเรียนรู้ของจังหวัดฉะเชิงเทรา คือพอได้คุยกับผู้อำนวยการศูนย์แล้วต้องยกความดีให้กับทีมเทศบาลที่มีวิสัยทัศน์ไกล และให้การสนับสนุนเรื่องการศึกษาอย่างจริงจัง กระทั่งอนุมัติให้สร้างอาคารหลังนี้ขึ้นมา เพราะมันทำหน้าที่เป็นแหล่งความรู้แห่งใหม่ของเด็กที่นั่น ภายใต้งานสถาปัตยกรรมที่มีรูปทรงสวยงามแบบร่วมสมัย มีประโยชน์ ใช้งานได้จริง และเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัด
อีกงานหนึ่งที่จะยกตัวอย่างให้ฟังคือตึกแน็ท (NAT) ที่จังหวัดอุดรธานี โดยฟังก์ชั่นหลักนั้นเป็นอาคารสำนักงานบริษัทตัวแทนจำหน่ายมอเตอร์ไซค์ ฮอนด้า ซึ่ง NAT เป็นตัวแทนรายใหญ่ที่นั่น เราในฐานะสถาปนิกไม่เคยเห็นเจ้าของโครงการใส่ใจในคุณภาพของงานสถาปัตยกรรมขนาดนี้มาก่อน โดยเฉพาะตามต่างจังหวัด NAT เชิญให้ทีมสถาปนิก M Space มาออกแบบอาคารหลังนี้ด้วยแนวคิดและรูปแบบที่น่าตื่นตาตื่นใจ ตัวอาคารมี นัยยะแฝงทางสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ อีกทั้งยังเปิดกว้างให้ผู้คนภายนอกสามารถเข้าไปใช้พื้นที่ทำกิจกรรมในลักษณะของพื้นที่สาธารณะ
ส่วนงานที่ประทับใจจริงๆ คือโบสถ์คริสต์หลังเล็กๆ ออกแบบโดย Le Corbusier ตั้งอยู่บนยอดเขาในประเทศฝรั่งเศสที่ชื่อ Notre Dame du Haut ของเมือง Ronchamp เคยแบกเป้ไปเที่ยว ครั้งแรกตอนฝึกงานที่ฮอลแลนด์ จำได้ว่าตอนเรียนอาจารย์เคยเล่าให้ฟังว่าไปยาก เราเองก็เคยเห็นแต่ ในหนังสือเรียน พอไปเห็นของจริง มันสวยงามมากกว่าในหนังสือหลายเท่า ลองคิดเล่นๆ ว่าช่วงปีคศ.50-60 มนุษย์ออกแบบและสร้างงานแบบนี้ ได้อย่างไร ต้องใช้คนกี่คน ช่างกี่แขนงในการสร้างให้สำเร็จ กระทั่งเมื่อสามปีที่แล้ว ได้พาพี่บีไปเยือนที่นี่ ไปยืนดูเฉยๆ อยู่นานกว่าจะเอากล้องออก มาเก็บภาพ เพิ่งทราบว่าเป็นงานที่พี่บีทำวิจัยตอนเรียนปริญญาโท มันก็เลยพิเศษไปกันใหญ่ การได้กลับไปยืนมองงานชิ้นเดียวกันในเวลาที่ต่าง กัน มันทำให้เกิดประสบการณ์การมองที่ต่างกันบนงานสถาปัตยกรรมชิ้นเดียวกัน แล้วก็งานนี้แหล่ะที่ทำให้ผมอยากจะมีแรงเดินทางไปถ่ายรูปงาน สถาปัตยกรรมได้อีกนานๆ
ความสุขจากการถ่ายภาพ
ผมว่าผมกับพี่บีโชคดีที่เราชอบถ่ายภาพ เราเป็นสถาปนิก เราชอบดูงานสถาปัตยกรรม เราชอบเดินทาง มันลงตัวตรงที่ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ มีความสุขกับมันและใช้เป็นสัมมาอาชีพเอาไว้เลี้ยงตัวได้ แค่นี้ก็มีความสุขมากพอแล้วครับ