งานของผมเป็นการถ่ายภาพดวงดาวและวัตถุท้องฟ้า ซึ่งใช้เวลาถ่ายภาพในช่วงกลางคืนเป็นส่วนใหญ่ จะมีบ้างในช่วงกลางวันก็คือ การถ่ายภาพดวงอาทิตย์ ดังนั้นกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของงานถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ของผมคือ การถ่ายภาพเวลากลางคืน  


            ปัจจุบันการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ก็มีช่างภาพหลายๆ คน หันมาให้ความสนใจการถ่ายภาพแนวนี้กันอย่างแพร่หลาย ดังจะเห็นตามหน้าเพจต่างๆ หรือทางเฟสบุ๊ค ที่มีการแชร์ภาพให้เห็นกันบ่อยๆ ซึ่งในการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์นั้น นอกจากความรู้ทางดาราศาสตร์และเทคนิคในการถ่ายภาพแล้ว ส่วนตัวผมคิดว่า “อุปกรณ์ก็ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่ต้องให้ความสำคัญ” ไม่แพ้กันเลย


            ในอดีตผมเริ่มถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ด้วยกล้องฟิล์ม และเปลี่ยนมาใช้เป็นกล้องดิจิตอล Canon Eos 350D, EOS 400D, EOS 500D, EOS 7D, EOS 60Da, EOS 5D Mark ll และปัจจุบัน EOS 1DX ซึ่งทุกวันนี้ ผมยังคงเลือกใช้กล้องดิจิตอลทั้งแบบชนิดเซ็นเซอร์ APS-C และ Full Frame การจะเลือกใช้กล้องตัวไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับประเภทของภาพถ่ายที่ต้องการจะถ่ายนั่นเอง ตัวอย่างเช่น หากต้องการถ่ายภาพดวงจันทร์หรือดวงอาทิตย์ ผมมักเลือกใช้กล้องดิจิตอลแบบชนิดเซ็นเซอร์ APS-C เพื่อให้ภาพที่มีขนาดใหญ่ เพราะไม่ต้องเสียมาเวลามาครอปภาพ หรือหากต้องการถ่ายภาพมุมกว้างที่ต้องการค่าความไวแสงสูงๆ  ผมก็มักเลือกใช้กล้องดิจิตอลแบบชนิดเซ็นเซอร์ Full Frame


            แต่หลังจากที่ผมได้รับกล้อง EOS 7D Mark II มาอยู่ในมือนานกว่า 2 เดือน เพื่อใช้ในการถ่ายภาพในแนว Astrophotography มันทำให้ความคิดเดิมๆ เปลี่ยนไป ที่“เรามักคิดกันว่ากล้องดิจิตอลแบบชนิดเซ็นเซอร์ APS-C ไม่เหมาะกับงานภาพกลางคืน” นี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนของเทคโนโลยีการถ่ายภาพก็ว่าได้
 
            เอาล่ะครับเรามาลองดูกันว่า ภาพที่ได้จะเป็นยังไงกันบ้าง และจะตอบโจทย์ การถ่ายภาพแนวนี้หรือไม่ โดยจะขอเริ่มจากการถ่ายภาพตามช่วงเวลา ดังนี้
 
17.00 – 18.00 น. เวลาดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า (Sunset)



            เรามาเริ่มต้นกันด้วยภาพดวงอาทิตย์ตกหลังพระธาตุดอยสุเทพฯ โดยการศึกษาตำแหน่งมุมขึ้น-ตก ของดวงอาทิตย์ ซึ่งช่วงผมที่ได้รับกล้อง EOS 7D Mark ll มาก็อยู่ในช่วงที่สามารถถ่ายภาพปรากฏการณ์นี้ได้พอดี หรืออาจจะบอกได้ว่ากล้องมาอยู่ในมือผมได้อย่างถูกที่ถูกเวลาจริงๆ


            โดยภาพนี้เป็นการถ่ายภาพดวงอาทิตย์ ที่สภาพแสงมีคอนทราสต์ (Contrast) จัดมาก เนื่องจากแสงของดวงอาทิตย์มีความสว่างมาก เมื่อเทียบกับในส่วนของพระธาตุดอยสุเทพฯ  จากการทดสอบพบว่า คุณภาพของไฟล์ภาพสามารถแสดงรายละเอียดทั้งในส่วนมืด (shadow) และส่วนสว่าง (Highlight) ได้ดีเลยทีเดียว สามารถเก็บรายละเอียดของจุดมืดบนดวงอาทิตย์ (Sunspot) และรายละเอียดของฉากหน้าคือวัดพระธาตุดอยสุเทพฯ ได้อีกด้วย


 
 
18.00 – 19.00 น. เวลาแสงสนธยา (Twilight)



           สำหรับการถ่ายภาพในช่วงแสงทไวไลท์ในช่วงเย็นนั้น ซึ่งเป็นช่วงหลังจากดวงอาทิตย์ตกไปแล้ว ประมาณ 10 – 15 นาที ขณะนั้นท้องฟ้าบริเวณใกล้กับขอบฟ้าจะเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ส้ม หรือแดงตัดกับแสงสีน้ำเงินอมม่วง ท้องฟ้าจะมีสีสันโดดเด่นมากกว่าท้องฟ้าในตอนกลางวันหรือตอนฟ้ามืดสนิท ซึ่ง EOS 7D Mark ll ก็สามารถเก็บภาพได้ทุกสภาพแสง โดยผมมักเลือกใช้ Color space (หรือพิกัดสี) แบบ Adobe RGB เพื่อให้มีขอบเขตของเฉดสีที่กว้างเหมาะกับการไล่โทนสีของท้องฟ้าได้เป็นอย่างดี


            ความประทับใจแรกที่เริ่มต้นกับเจ้า EOS 7D Mark II ในการถ่ายภาพภายใต้สภาพแสงน้อยๆ คือ กล้องเซ็นเซอร์แบบ APS-C สามารถให้คุณภาพของภาพที่ใสเคลียร์และมีช่วงความสามารถในการเก็บรายละเอียดของแสง (Dynamic Range) ที่กว้าง สามารถเก็บรายละเอียดทั้งในส่วนมืด (Shadow) และส่วนสว่าง (Highlight) ได้ดี ซึ่งหลังจากที่นำภาพมาปรับรายละเอียดในส่วนต่างๆ ต้องขอยกนิ้วให้เลย โดยเฉพาะในส่วนของ Shadow ซึ่งทำได้ดีมากจริงๆ ครับ
 
 
 
 
 
 
19.00 – 20.00 น. เวลาแสงจักรราศี (Zodiacal Light)  




            หลังจากหมดแสงสนธยาแล้ว ก็มาถึงช่วงเวลาที่ท้องฟ้าเริ่มมืดสนิท เราจะสังเกตเห็นแสงจักรราศี (Zodiacal Light) เป็นแสงเรืองจางๆ เป็นโครงรูปสามเหลี่ยมหยาบๆ ที่ปรากฏบนท้องฟ้ายามค่ำคืนหลังจากที่แสงสนธยาของตะวันตกดินลับฟ้าไปแล้ว  โดยจะปรากฏอยู่ในแนวระนาบของเส้นสุริยะวิถี ซึ่งเราจะเห็นแสงจักรราศี ได้จากท้องฟ้าที่มืดสนิทไม่มีแสงจันทร์ และมลภาวะทางแสงจากขอบฟ้ารบกวน ทางด้านทิศตะวันตกหลังดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า และด้านทิศตะวันออกก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น


            โดยในการถ่ายภาพแสงจักรราศีนั้น ต้องบอกว่าหากกล้องที่ไม่สามารถให้รายละเอียดในส่วนของคอนทราสต์ที่ดี ก็อาจเป็นเรื่องยากจะเห็นแสงจักรราศีนี้ได้ในภาพถ่าย   ซึ่งเจ้า EOS 7D Mark ll ตัวนี้ถือว่าให้รายละเอียดของส่วนคอนทราสต์ได้ดี จนสามารถถ่ายภาพแสงจักรราศีออกมาได้อย่างชัดเจน  รวมทั้งยังสามารถใช้ค่าความไวแสง สูงถึง ISO 3200 ได้อย่างสบายใจ ซึ่งถือว่าสูงมากสำหรับกล้องชนิดเซ็นเซอร์ APS-C และสามารถควบคุมสัญญาณรบกวนได้เป็นอย่างดี

20.00 – 22.00 น. เวลากลุ่มดาว (Constellation)



            เมื่อสิ้นแสงจักรราศีไปแล้ว ทีนี้เราเปลี่ยนมุมกล้องมากลางท้องฟ้ากันบ้าง ณ บริเวณกลางท้องฟ้าเราจะสามารถสังเกตเห็นกลุ่มดาวสว่างที่น่าสนใจต่างๆ เช่น กลุ่มดาวนายพราน กลุ่มดาวหมาใหญ่ ซึ่งบริเวณกลุ่มดาวทั้งคู่นี้ นอกจากจะมีสีสันของดาวฤกษ์แล้ว ยังมีวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจ เช่น เนบิวลาสว่าง M42 และกระจุกดาวฯลฯ อีกด้วย


            ในการถ่ายภาพกลุ่มดาวนี้ ผมได้ติดตั้งกล้อง EOS 7D Mark ll เข้ากับอุปกรณ์ตามดาวแบบพกพา โดยใช้เวลาในการถ่ายภาพนานกว่า 180 วินาที เพื่อเป็นการทดสอบสัญญาณรบกวน ประเภท Fixed pattern noise คือสัญญาณรบกวนเฉพาะเป็นรูปแบบของสัญญาณที่รวมไปถึง Hot Pixel ด้วย  โดยทั่วไปแล้วสัญญาณรบกวนในรูปแบบนี้จะปรากฏกับภาพที่ใช้เวลานานในการบันทึกภาพ และหากยิ่งมีอุณหภูมิสูงก็จะยิ่งทำให้ปรากฏมากขึ้นด้วย


            จากการทดสอบพบว่าเราสามารถได้ไฟล์ภาพที่มีสัญญาณรบกวนที่อยู่ในระดับน่าพอใจ และมีความยืดหยุ่นในการประมวลผลภาพในภายหลังได้ดี

22.00 – 03.00 น. เวลาเส้นแสงดาว (Star Trails)



           ในการถ่ายภาพเส้นแสงดาวหรือที่คุ้นหูกันว่า Star trails ซึ่งปกติเทคนิคในการถ่ายภาพคือการใช้สายลั่นชัตเตอร์ในการสั่งถ่ายภาพ แบบต่อเนื่อง แต่ปัจจุบันสำหรับเจ้า EOS 7D Mark ll ตัวนี้ได้เพิ่มฟังก์ชั่นการถ่ายภาพ Interval Time สำหรับการถ่ายภาพ Time-lapse อีกด้วย ซึ่งโหมดนี้ทำให้สามารถตั้งค่าการถ่ายภาพแบบต่อเนื่องโดยไม่จำเป็นต้องใช้สายลั่นชัตเตอร์  ฟังก์ชั่นใหม่นี้มีประโยชน์มาก เพราะสามารถช่วยลดปัญหาคนที่ไม่มีสายลั่นชัตเตอร์บ้าง ลืมสายลั่นบ้าง หรือมักเสียระหว่างถ่ายภาพ โดยปัญหาเหล่านี้จะหมดไป เนื่องจากเจ้า EOS 7D Mark ll ตัวนี้มีฟังก์ชั่นนี้ให้มากับกล้องแล้ว ทำให้ลืมปัญหาดังกล่าวไปได้เลย ทั้งยังไม่ต้องลงทุนซื้อสายลั่นเพิ่มอีกด้วยครับ


            สำหรับภาพ Star trails นี้ ผมทดลองชาร์ตแบตฯกล้องจนเต็ม และถ่ายภาพด้วยโหมด Interval Time จนแบตฯหมด พบว่าสามารถถ่ายภาพได้ประมาณ 460 กว่าภาพ ซึ่งเพียงพอสำหรับภาพดาวหมุนที่สวยงามแล้ว นอกจากนี้เรายังสามารถนำภาพถ่ายทั้งหมดมาสร้างเป็นภาพวีดีโอ Time-lapse Movie ได้อีกด้วย เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวกันเลยทีเดียว
 
 




03.00 – 05.00 น. เวลาทางช้างเผือก (Milky Way Galaxy)


 

             มาถึงภาพถ่ายทางช้างเผือกกันบ้าง ซึ่งเป็นที่ยอดฮิตของการถ่ายภาพในช่วงนี้ โดยเราสามารถสังเกตเห็นแนวทางช้างเผือกได้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ช่วงหลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป ตั้งแต่เดือนเมษายน และงานนี้เจ้า EOS 7D Mark ll ตัวนี้ก็ไม่พลาดที่ผมจะนำไปล่าช้างเผือกบนฝากฟ้า จากการทดลองถ่ายภาพด้วยค่าความไวแสงต่างๆ กัน เพื่อเปรียบเทียบคุณภาพไฟล์ ส่วนตัวผมคิดว่ากล้องตัวนี้สามารถใช้ค่าความไวแสงสูงๆ ในการถ่ายภาพได้อย่างหายห่วง ซึ่งภาพทางช้างเผือกนี้ ผมสามารถปรับค่าความไวแสง ไปใช้งานที่ ISO 3200 ได้แบบสบายใจ และให้คุณภาพของภาพที่ดีในระดับหนึ่งเลยทีเดียว หรืออาจเรียกได้ว่าเจ้า EOS 7D Mark ll ตัวนี้มันคือกล้องแบบ Full Frame ในร่าง APS-C ก็ว่าได้ (อันนี้ความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ....)




EOS 7D Mark ll กับการถ่ายภาพปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ภายใต้อุณหภูมิติดลบ -35 องศาเซลเซียส



             นอกจากการทดสอบ EOS 7D Mark ll ในการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ ตามช่วงเวลาแล้ว ผมยังไม่หยุดเท่านั้น เพราะเมื่อกล้องมาอยู่ในมือของช่างภาพดาราศาสตร์แล้ว คงหนีไม่พ้นการถ่ายภาพปรากฏการณ์สำคัญทางดาราศาสตร์ โดยงานนี้ผมพาเจ้า EOS 7D Mark ll ไปยังขั้วโลกเหนือ เพื่อถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง ณ หมู่เกาะสฟาลบาร์ ประเทศนอร์เวย์ ภายใต้อุณหภูมิเย็นสุดขั้ว ติดลบเฉลี่ย -35 องศาเซลเซียส 





 
            ในการถ่ายภาพปรากฏการณ์ ถึงแม้ว่าที่อุณหภูมิติดลบกว่า -35 องศาเซลเซียส และประสิทธิภาพการทำงานของแบตเตอรี่จะลดลงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากสภาพอากาศที่เย็นจัด  แต่กล้องก็ยังสามารถทำงานได้ปกติตลอดช่วงการเกิดปรากฏการณ์กว่า 4 ชั่วโมง อย่างสบายๆ ซึ่งอุณหภูมิดังกล่าวอุปกรณ์อื่นๆ เช่น คอมพิวเตอร์ มือถือไอโฟน ตายเรียบไปตั้งแต่ 5 นาทีแรกไปเรียบร้อยแล้ว
 



ด้านหลังจอภาพและตัวกล้อง ขณะถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคา มีน้ำแข็งเกาะตลอดเวลาแต่กล้องยังสามารถทำงานได้ปกติ






           จากภาพถ่ายปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง จะเห็นได้ว่าคุณภาพไฟล์ภาพที่ได้จากกล้อง EOS 7D Mark ll สามารถแสดงรายละเอียดของเปลวสุริยะ (Prominence) ที่พุ่งออกมาจากผิวของดวงอาทิตย์ชั้นโฟโตสเซีย และชั้นโคโรนา (Corona) ซึ่งเป็นชั้นนอกสุดของดวงอาทิตย์ ที่สามารถเก็บรายละเอียดของส่วนสนามแม่เหล็กบนดวงอาทิตย์ได้อย่างชัดเจน


            และนอกจากปรากฏการณ์สุริยุปราคาแบบเต็มดวงที่ขั้วโลกเหนือ ประเทศนอร์เวย์แล้ว หลังจากนั้นห่างกันเพียง 15 วัน ก็เป็นช่วงปรากฏการณ์จันทรุปราคาแบบเต็มดวงอีกครั้ง เรียกได้ว่า กล้อง EOS 7D Mark ll ตัวนี้มาอยู่กับผมได้อย่างถูกที่ถูกเวลาจริงๆ หรือที่ผมมักเรียกว่า “เป็นกล้องที่ถูกกาลเทศะ” คราวนี้ผมได้ลองใช้เจ้า EOS 7D Mark ll ตัวนี้ถ่ายภาพปรากฏการณ์จันทรุปราคาขณะดวงจันทร์อยู่ในเงามืดของโลก ซึ่งแน่นอน สภาพแสงของดวงจันทร์ขณะนั้นลดลงอย่างมาก แต่ผมยังสามารถถ่ายภาพดวงจันทร์สีแดงอิฐได้อย่างมั่นใจ และได้ไฟล์ภาพที่ใสเคลียร์มาก ถึงมากที่สุด เท่าที่ผมเคยถ่ายภาพจันทรุปราคามาก็ว่าได้ ทั้งยังได้ไฟล์ภาพดวงจันทร์แบบเต็มเฟรม ใหญ่แบบสุดๆ เท่าที่ผมเคยถ่ายมาก็ว่าได้ ผมขอยกให้ภาพสุดท้ายนี้เป็นภาพถ่ายปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในระดับ “Masterpiece” ของ EOS 7D Mark ll เลยครับ เพราะจากประสบการณ์ที่เคยถ่ายภาพจันทรุปราคาเต็มดวงมาหลายๆ ครั้ง ต้องขอบอกว่าครั้งนี้ได้ไฟล์ที่ใสเคลียร์และใหญ่สะใจที่สุด




            จากการที่ได้สัมผัสใช้งานมาระยะ 2 เดือน ผมคิดว่าสำหรับงานถ่ายภาพทางดาราศาสตร์แล้ว EOS 7D Mark II ตัวนี้ สามารถตอบโจทย์การถ่ายภาพได้เป็นอย่างดี  สามารถทนทานต่อสภาพอากาศอันหนาวจัด มีพัฒนาการฟังก์ชั่นที่อำนวยความสะดวก และให้คุณภาพไฟล์ที่ดี มีสัญญาณรบกวนที่ต่ำในระดับที่น่าพอใจ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการถ่ายภาพกลางคืนได้อย่างสบายใจ ทั้งยังมีช่วงความสามารถในการเก็บรายละเอียดของแสง (Dynamic Range) ได้กว้างสามารถเก็บรายละเอียดทั้งในส่วนมืด (Shadow) และส่วนสว่าง (Highlight) ได้เป็นอย่างดี ทั้งหมดนี้ถือว่า EOS 7D Mark II ตัวนี้ สอบผ่านสำหรับงานด้านการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ครับ
 


เรื่องและภาพ ศุภฤกษ์  คฤหานนท์
ช่างภาพดาราศาสตร์ผู้หลงใหลการถ่ายภาพท้องฟ้าและดวงดาวมากว่า 10ปี และพร้อมที่จะบอกเล่าเรื่องราว พร้อมทั้งถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้ และเทคนิคการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ผ่านมุมมองของนักถ่ายภาพดาราศาสตร์ ซึ่ง”คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
 
ปัจจุบันศุภฤกษ์เป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์  สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ คอลัมนิสต์บทความถ่ายภาพดาราศาสตร์ ในเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ และยังเป็นแอดมินของเพจ Night watch:Astrophotography and Nightscape Photography Group  และ Astrophotography workshop