ตลอดเดือนธันวาคมเป็นช่วงเวลาที่ถนนราชดำเนินตลอดทั้งสายงดงามตระการตา จนอดไม่ได้ที่เราจะต้องนำกล้องออกไปบันทึกภาพ โดยในปี พ.ศ. 2558 นี้ กรุงเทพมหานคร ได้มีการจัดไฟประดับในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 88 พรรษา 5 ธันวาคม 2558 ประดับตกแต่งถนนราชดำเนินทั้งสองฝั่งตลอดสาย ตั้งแต่บริเวณสนามหลวงไปจนถึงพระลานพระราชวังดุสิต หรือลานพระบรมรูปทรงม้า โดยมีซุ้มเฉลิมพระเกียรติฯ 37 ซุ้มบริเวณถนนราชดำเนินใน ราชดำเนินกลางและราชดำเนินนอก ทั้งหมดออกแบบภายใต้แนวคิด “ใต้ร่มพระบารมี” สื่อแสดงถึงความจงรักภักดี พระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทย 
 
ในปี 2558 พิเศษกว่าทุกปี โดยบริเวณทางเดินเท้าของถนนราชดำเนินกลาง ประดับตกแต่งอย่างสวยงามเป็นอุโมงค์ไฟประดับที่มีทั้งหลอดไฟรูปหัวใจสีเหลืองสื่อความหมายถึงความรักของประชาชนชาวไทยที่มีต่อพระองค์ท่าน และยังมีไฟหยดน้ำ ไฟปิงปองและไฟที่เป็นโคมห้อย โดยไฟหยดน้ำมีจำนวนสี่แสนกว่าเส้น ส่วนไฟปิงปองมีมากกว่าห้าหมื่นดวง เปิดให้ชมต่อเนื่องถึงวันปีใหม่ โดยในวันที่ 31 ธันวาคมคืนวันส่งท้ายปีจะเปิดให้ชมต่อเนื่องไปถึงเช้าวันรุ่งขึ้นของวันที่ 1 มกราคม 
 
ช่วงเวลาที่งดงามมากที่สุดคือหลังพระอาทิตย์ตกเป็นต้นไป ไฟประดับต่างๆ จะถูกเปิดขึ้นตั้งแต่ท้องฟ้ายังไม่มืดสนิท และค่อยๆ เผยความงดงามมากขึ้นเรื่อยๆ และสวยงามมากที่สุดในเวลาโพล้เพล้ จะได้ภาพแสงสีของไฟประดับตัดกับท้องฟ้าสีน้ำเงิน นอกจากนี้ยังมีแสงไฟจากรถยนต์ที่แล่นผ่านไปมา เมื่อบันทึกภาพด้วยความเร็วชัตเตอร์ต่ำมากๆ จะปรากฏเป็นเส้นสายของแสงไฟ เป็นหนึ่งในองค์ประกอบภาพที่ทำให้ภาพดูสวยงามน่าประทับใจ
 

อุปกรณ์ถ่ายภาพที่แนะนำคือกล้องดิจิตอลพร้อมเลนส์มุมกว้างมากๆ เพื่อเก็บบรรยากาศอันสวยงามให้ได้ทั้งหมด หากเป็นกล้องฟูลเฟรม เลนส์ที่เหมาะคือซูม 16-35 มม. ส่วนกล้องเซ็นเซอร์ APS-C เลนส์ซูมมุมกว้าง EF-S 10-18 มม. เป็นทางเลือกที่ดีมาก และเลนส์มุมกว้างยังมีข้อดีคือ มีระยะชัดลึกสูง ใช้รูรับแสงปานกลางเช่น F8 ก็ได้ระยะชัดลึกเพียงพอที่จะทำให้ภาพคมชัดอย่างทั่วถึง สำหรับเลนส์เทเลโฟโต้ซูมจะเหมาะกับการถ่ายภาพแบบเจาะ หรือเลือกถ่ายภาพเฉพาะพื้นที่ เช่นซูม 70-200 มม. นอกจากนี้เลนส์ทางยาวโฟกัสเดี่ยวที่มีรูรับแสงกว้างมากๆ เช่น 50 มม. F1.8 หรือ 85 มม. F1.8 จะเหมาะมากกับการถ่ายภาพโคมไฟให้ดูโดดเด่นโดยมีโบเก้ของฉากหลังที่เป็นดวงไฟเล็กๆ สวยงามน่าประทับใจ
 
อุปกรณ์ที่จำเป็นยังมีอีกสองอย่างคือ ขาตั้งกล้องและสายลั่นชัตเตอร์ หรือรีโมทคอนโทรล เนื่องจากแสงไฟมีปริมาณน้อยมาก ทำให้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำเกินไป เมื่อถือกล้องถ่ายภาพด้วยมือ ภาพจะเบลอ ไม่คมชัดเท่าที่ควร หากแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มความไวแสงสูงๆ คุณภาพอาจจะไม่ดี ควรใช้ความไวแสงต่ำเช่น ISO 100 หรือ 200 แล้วใช้ขาตั้งกล้องช่วย จะได้ภาพมีคุณภาพดีเยี่ยมและคมชัด บางครั้งความเร็วชัตเตอร์อาจจะนานถึง 1 วินาทีหรือนานกว่านั้น ควรใช้สายรีโมท แทนการกดปุ่มชัตเตอร์ จะช่วยให้กล้องนิ่งและภาพคมชัดมากขึ้น หากต้องการให้เห็นแสงไฟของรถยนต์ที่แล่นอยู่บนถนนให้ปรับรูรับแสงแคบๆ เช่น F16 จะได้ความเร็วชัตเตอร์ต่ำมากเช่น 10 วินาที ให้รอจังหวะที่มีรถแล่นผ่านไปมา ค่อยลงมือกดชัตเตอร์บันทึกภาพ จะได้แสงไฟเป็นเส้นสายอย่างสวยงาม 
 
แน่นอนว่าทุกอยากได้ภาพตัวเอง เพื่อนฝูง หรือคนอื่นๆ ในครอบครัว ถ่ายภาพคู่กับแสงสีของไฟประดับของถนนราชดำเนินเป็นที่ระลึก แต่ด้วยสภาพแสงที่ไม่มากนักอาจจะสร้างปัญหาทำให้ใบหน้าดำมืด วิธีแก้ง่ายๆ คือ ใช้แฟลชในตัวกล้อง หากเป็นกล้องรุ่นที่ไม่มีแฟลชในตัวก็ต้องใช้แฟลชภายนอก หากใช้แฟลชแล้วมีปัญหาใบหน้าคนดูสว่างเกินไป ให้ปรับชดเชยแสงแฟลช ซึ่งทำได้หลายวิธีเช่น ใช้ปุ่มชดเชยแสงแฟลชที่ตัวแฟลชเอง หรือปุ่มกดที่ตัวกล้อง หรือปรับจากเมนู ให้ลองปรับชดเชยแสงแฟลชไปที่ -1 ก่อนถ้ายังสว่างเกินไปให้ปรับลดลงไปอีก อาจจะปรับทีละ 1/3 EV จะได้ภาพที่แสงแฟลชบนใบหน้าค่อยๆ ลดลง จนกระทั่งได้ค่าแสงที่พอดีตามที่ต้องการ 
 
เรื่อง/ภาพโดย ประสิทธิ์ จันเสรีกร