สำหรับช่วงหน้าฝน สิ่งที่น่าหงุดหงิดใจสำหรับคนที่รักการถ่ายภาพก็คือ ท้องฟ้าที่ไม่สดใสและการเดินทางที่ลำบาก ทั้งเรื่องรถติดและสายฝนที่ไม่เป็นใจเมื่อเราอยากจะออกไปถ่ายภาพสักทริป วันนี้มาแนะนำการคลายเหงา และคลายความคิดถึงในเสียงอันทำให้เราชาวถ่ายภาพหายเหงานั่นก็คือเสียงของม่านชัตเตอร์หรือชาว DSLR อาจจะเป็นเสียงชุดยกกระจกที่ตีขึ้นพร้อมกับม่านชัตเตอร์ทำงานตามค่าที่เราตั้งไว้อันเป็นเสียงที่ไพเราะจับใจใครหลายๆคนนั่นเองครับ ระหว่างที่รอม่านเมฆหมอกและเม็ดฝนที่มาเติมความชุ่มฉ่ำและมวลน้ำให้กับเขื่อนต่างๆในประเทศ รวมถึงเกษตรกรทั่วประเทศกันนั้น เราชาวถ่ายภาพออกไปไหนไม่ได้ก็ถ่ายมันที่บ้านนี่แหละครับ “ถ่ายมาโคร” กัน
อุปกรณ์ก็หาใช้เท่าที่มีแหละครับ อาจจะต้องหาเพิ่มนิดหน่อยคือแหวนกลับเลนส์ใส่ตรงฟิลเตอร์เพื่อกลับด้านเลนส์จากเลนส์ปกติก็จะกลายเป็นเลนส์มาโครทันทีครับ ต้องบอกไว้ก่อนว่าอุปกรร์ชิ้นนี้ไม่ใช่ของค่ายนะครับ ข้อดีคือราคาไม่แพง ข้อเสียคือทุกอย่างเป็นอัตโนมือหมดเลย คือปรับเองหมดเลยทั้งโฟกัสและก็ค่ารูรับแสงด้วย ยิ่งเลนส์มุมกว้างยิ่งถ่ายได้ใกล้ครับ จะต่างจากเลนส์มาโครที่ใช้ง่ายกว่ามากบางรุ่นมีกันสั่น มี AF แถมปรับรูรับแสงได้จากกล้องเลย เรียกว่าสะดวกและคุณภาพดีกว่ากันเยอะ แต่วันนี้แนะนำแบบประหยัดถ้าติดใจก็ออกไปหาเลนส์มาโครมาถ่ายแบบง่ายๆ สบายๆ ได้เลยครับ หน้าตาของแหวนกลับเลนส์ก็ประมาณนี้ครับ
เริ่มต้นด้วยประกอบเลนส์เข้าไปตามปกติ ปรับค่ารูรับแสงที่เราต้องการไว้ อาจจะประมาณ f/13 ขึ้นไปแล้วก็กดปุ่มเช็ค DOF ค้างไว้เพื่อให้รูรับแสงหรี่ลงมาเป็น f ที่เราต้องการ โดยถ้าเป็น DSLR รุ่นโปรจะมีปุ่มกดมาให้เลยแต่ถ้าเป็นกล้อง M50 หรือ R System อาจจะต้องไปตั้งปุ่มกดจากเมนูการตั้งค่าปุ่มของกล้องครับ เมื่อตั้งค่าและกดค้างไว้แล้วก็ถอดเลนส์ออกมาเลยครับรูรับแสงจะค้างอยู่ไม่กลับไปที่ f กว้างสุดตามปกติ
จากนั้นก็หมุนแหวนกลับเลนส์ตามหน้าขนาด filter ของเลนส์ที่เตรียมมาใส่เข้าไปครับ อย่างเลนส์ที่นำมายกตัวอย่างวันนี้เป็น EF-S 18-55 หน้าเลนส์ขนาด filter ก็ประมาณ 58 mm ครับ ถอดเลนส์ออกจากเมาท์แล้วกลับด้านเอาด้านที่ใส่แหวนกลับเลนส์ใส่เข้าไปแทนครับ
หน้าตาหลังจากกลับด้านเลนส์เพื่อกลายร่างเป็นโหมดมาโครก็ประมาณนี้ครับ
สำหรับเลนส์นั้น หลังจากเรากลับด้านแล้ว ก็จะไม่แสดงค่ารูรับแสงให้เห็นรวมถึงปรับค่ารูรับแสงไม่ได้แล้วนะครับต้องปรับให้เสร็จว่าต้องการเท่าไหร่จากหัวข้อด้านบนที่ผ่านมา ซึ่งยิ่งปรับค่ารูรับแสงมากเราก็ต้องปรับเพิ่มกำลังแสงแฟลชเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้ความสว่างที่เพียงพอครับ
ด้านความสว่างเพื่อให้ได้ความอิสระเลยยกชุดสั่งงานแบบคลื่นวิทยุมาใส่ โดยใช้ ST-E3-RT ใส่บนหัวกล้องเพื่อสั่งงาน Speedlite 600EX-RT ทำให้เอาแฟลชวางตรงไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีเซ็นเซอร์แสงกระทบ หรือที่เราเรียกว่าระบบตาแมวนั่นแหละครับ ถ้าจะใช้ระบบนี้ก็สังเกตตรงอุปกรณ์ทั้งสองตัวต้องลงท้ายด้วย RT (Radio Transmission) ครับ สำหรับการตั้งค่าแฟลชนี้ผมตั้งให้เป็นโหมดรับสัญญาณคลื่นวิทยุ(สังเกตุไฟ Link หากเชื่อมต่อกันแล้วจะขึ้นสีเขียว) และเลือกเป็นโหมด M กำลังส่ง 1/8-1/4 เพราะใช้ f ค่อนข้างเยอะ ประมาณ f/22-35 ขึ้นอยู่กับระยะห่างของวัตถุกับหน้าเลนส์ของเราครับ
การตั้งค่ากล้องและอุปกรณ์เบื้องต้นก็ประมาณนี้ครับ ส่วนนายแบบนี้ระหว่างฝนตกก็สามารถหาในบ้านได้เลยครับ อาจจะเป็นสิ่งของหรือสิ่งมีชีวิตในบ้านก็ได้ ถ้าเป็นสิ่งมีชีวิตก็ระวังเรื่องแสงที่อาจจะสว่างเกินไปรวมถึงเมื่อถ่ายเสร็จแล้วก็ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติด้วยนะครับ
ลงท้ายด้วยภาพตัวอย่าง ขอให้ถ่ายภาพวันฝนตกอย่างมีความสุขครับ
ขอบคุณครับ
#GingerCNX