ในสายงานข่าว ช่างภาพวิดีโอของสำนักข่าวต้องเก็บภาพเหตุการณ์ต่างๆ ให้ได้ชัดเจนทั้งภาพและเสียง กล้องที่ใช้จึงต้องมีประสิทธิภาพสูง มีระบบออโต้โฟกัสที่แม่นยำ ใช้เลนส์ที่ครอบคลุมการทำงานได้เพียงพอ และต้องใช้งานคล่องตัว ควบคุมง่าย เพื่อให้ช่างภาพมีสมาธิกับการเก็บภาพข่าวโดยไม่พลาด 

 

ซึ่งเราได้นัดพูดคุยกับ คุณธนกฤต พุทธชาติ ช่างภาพข่าวโทรทัศน์ สำนักข่าวไทย อสมท. ช่อง 9 mcotHD เรื่องการทำงานของช่างภาพข่าว และการใช้งานกล้อง Canon XF605 ในการทำงาน

 


 
คุณกฤตเล่าประวัติการทำงานของเขาว่า “ผมทำงานที่ช่อง 9 ตั้งแต่ปี 2557  ถึงตอนนี้ก็ 10 ปีพอดีครับ แต่จุดเริ่มต้นมันมาตั้งแต่ตอนเรียนมัธยม ผมเริ่มสนใจงานข่าวตั้งแต่ตอนเรียน ม.5 หรือ ม.6 นี่แหละครับ ตอนนั้นมีเหตุการณ์ผู้ก่อการร้ายขับเครื่องบินชนตึกเวิร์ลเทรดที่อเมริกา ผมดูข่าวก็เห็นคนที่อยู่ในตึกเขาวิ่งหนีกันออกมา แต่จะมีทีมกู้ภัย ตํารวจ แล้วก็ช่างภาพข่าวนี่แหละที่วิ่งสวนเข้าไปในในนั้น   ผมก็ เฮ้ย..อาชีพนี้เท่ดีว่ะ ได้เข้าไปถ่ายภาพพวกนี้ ก็เลยอยากจะทำแบบนี้เหมือนกัน  ตอนเข้ามหาลัยก็เลยเรียนมาทางนี้โดยตรง เรียนนิเทศที่เกษมบัณฑิต ตอนแรกชอบภาพนิ่งแต่พอเรียนลึกจริงๆ แล้ว ผมรู้สึกว่าภาพนิ่งคนมันอยากเป็นกันเยอะ  ก็เลยเปลี่ยนเป็นช่างภาพวิดีโอ แล้วก็ชอบวิดีโอมาตลอด พอมาฝึกงานก็มุ่งมาทางสายงานข่าวเลย”


   
คุณกฤตเล่าต่อว่า “ช่วงแรกฝึกงานผมก็ทำทั่ว ๆ ไปตามที่เด็กฝึกงานทำ ยกของ ถือขาตั้งกล้อง ถือไมค์ แบกกล้อง แต่กล้องมันค่อนข้างหนักแล้วมันแพงมากในสมัยนั้นเราก็จะไม่ได้ถ่าย จนกว่าเขาจะเชื่อใจว่าว่าเราทําได้เขาถึงจะให้ถ่าย แต่ถ้าถ่ายก็เป็นแบบตั้งขาตั้งกล้องถ่ายเฉย ๆ  ไม่ได้ให้สะพายบ่าไปถ่าย  เพราะว่ายุคนั้นเป็นระบบเทป มันไม่สามารถดูได้ว่าภาพที่ถ่ายเป็นยังไง จะดูได้อีกทีคือต้องเข้าสถานี แล้วมันพลาดไม่ได้ เขาเลยไม่กล้าให้เราถ่าย  มันไม่เหมือนสมัยนี้ที่เราเห็นได้เลยว่าเราถ่ายอะไรไปมั่ง ตอนนั้นก็ฝึกงานอยู่ 4 เดือนครับ”

 


    
ส่วนการเข้ามาสายการเมืองนั้น คุณกฤตบอกว่าไม่ได้เป็นคนเลือก คือตอนเข้าไปฝึกงาน มีเพื่อนไปด้วยสองคน เขาเป็นคนที่ให้เพื่อนเลือกก่อน เพื่อนมันก็เลือกไปสายกีฬา ซึ่งความจริงเขาอยากจะถ่ายสายกีฬาแต่เพื่อนมันเลือกไปแล้ว อีกคนก็ไปสายเซอร์กิต ก็เลยสายเดียวที่ไม่มีใครเลือกคือการเมือง เขาก็เลยให้อยู่การเมือง แล้วตั้งแต่นั้นก็อยู่การเมืองมาตลอด  “เราไม่ได้เป็นคนเลือกเอง แต่ไปๆมาๆ ผมว่าสายการเมืองมันเหมาะกับเราที่สุด”

 

คุณกฤตบอกเราว่า  “เพราะว่าสายการเมืองเป็นสายที่ทํางานไม่เหมือนสายอื่น  สายอื่นเมื่อได้หมายงานก็จะไปทำงาน เสร็จปุ๊บกลับ แต่สายการเมืองนั้นบางทีอยู่ยันเช้า แล้วรอจนเย็นถึงกลับ งานทําเนียบเราต้องรับผิดชอบหมดทุกอย่าง ไปทํางาน 8 ชั่วโมง แต่ที่ทํางานเราคือทำเนียบบ้าง สภาบ้าง พรรคการเมืองบ้าง เวียน ๆ ไปเหมือนเวียนที่ทำงานทุกวัน ไม่เหมือนสายอื่นที่มาสแตนบายที่ออฟฟิศ มีหมายค่อยออก  งานข่าวมันต้องเก็บภาพมาให้ได้ ต้องไม่พลาด ต้องเตรียมพร้อม หูตาไว”

 

ในการออกไปทำงาน คุณกฤตบอกว่าอุปกรณ์ต้องพร้อม กล้อง ไมค์  ทั้งแบบมีสาย ไร้สาย ขาตั้งกล้อง ไฟหัวกล้อง แบตเตอรี่  บางคนก็พกปลั๊กสามตา บางคนก็พกเครื่องชาร์จแบตไปด้วย ในหนึ่งทีมจะมีสามคน นักข่าวจะเป็นหัวหน้าทีม ช่างภาพและผู้ช่วยช่างภาพ รถข่าวหนึ่งคัน  นักข่าวก็จะไปหาข่าวกับพวกกลุ่มนักข่าวด้วยกัน ช่างภาพมีหน้าที่เฝ้าแทนนักข่าว เค้าไม่ได้มาอยู่กับเราตลอด เราต้องเฝ้าเตรียมพร้อมเพื่อให้ได้ภาพ ดูว่าเหตุการณ์จะเกิดเมื่อไร เราต้องสังเกต เราจำแม้กระทั่งทะเบียนรถเพื่อให้รู้ว่าใครมา  ตอนแรก ๆ มันก็ต้องปรับตัว แต่พอทําไปนาน ๆ แล้วมันจะรู้เองว่าอะไรเป็นอะไร ต้องทำยังไง

 

“ผมว่าทุกอย่างมันขึ้นกับหมายข่าวว่าให้เราไปทําอะไรมากกว่า เราไม่รู้หรอกว่าหน้างานที่เราไปทํามันจะยากแค่ไหน บางทีมันไม่ได้ยากที่ตัวงาน แต่มันยากที่จำนวนช่างภาพที่ไปถ่าย ถ้าเป็นงานใหญ่อย่างช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา ช่างภาพไทย ช่างภาพต่างประเทศ รวม ๆ เกือบ 200 ชีวิต มันไม่ได้แค่มองแค่ว่าเราต้องไปถ่ายภาพ คือเราต้องมองตั้งแต่ ต้องไปถึงกี่โมง ไปถึงก็ต้องตั้งขาตรงไหน จะแย่งมุมกับเขาได้ไหม เสียงจะตีกับเขาไหม ต้องคิดอะไรหลายอย่าง คือบางงานเป็นแบบแถลงข่าวง่าย ๆ  แต่ว่าช่างภาพที่อยู่ข้าง ๆ เรานี่แหละที่ทําให้งานมันยาก ต้องรู้ใจกับผู้ช่วย  เราใช้สัญญาณมือให้รู้ว่า ไมค์ตี ต้องเปลี่ยนช่อง ต้องปิดไมค์ เปิดไมค์ หน้างานต้องใช้ความเงียบ ตะโกนบอกกันไม่ได้”


 
ส่วนเรื่องอุปกรณ์นั้นคุณกฤษณ์บอกว่า  “กล้องกับตัวเรามันใช้กันคนละครึ่ง 50/50 แต่งานข่าวเราไม่สามารถรีดศักยภาพกล้องออกมาได้เต็มร้อย งานข่าวมันไม่ได้เป็นงานที่ต้องใช้ทุกฟังก์ชัน มันแค่ถ่ายให้ได้ภาพชัด เก็บเสียงให้ได้  ซูมเข้าซูมออกโฟกัสให้เร็ว แค่นี้พอ เราก็ต้องการแค่นั้นแหละ น้ําหนักกล้องถ้าเบาก็ดีเพราะว่าบางทีต้องยกถ่ายมุมสูงที่ช่างภาพเรียกกันว่า เชิดสิงโต ถ้ากล้องมันเบาก็ดี และน้ําหนักเบาก็ช่วยเซฟร่างกายเรา เซฟแขนเรา ข้อมือเรา ซึ่งช่างภาพข่าวทุกคนมันจะมีปัญหาเรื่องนี้”

 

 

เมื่อถามถึงการใช้ XF605 ออกไปทำงานข่าว คุณกฤษณ์บอกว่า “ผมได้ลองเอาไปใช้ทำงานมาแล้ว โดยรวมผมว่ามันโอเคกับงานข่าว เพราะด้วยความที่มันเป็นกล้องรุ่นใหม่ ฟังก์ชันอะไรทุกอย่างมันไปอยู่ที่หน้าจอทัชสกรีน กดปุ๊บมันโฟกัสให้เลย เราไม่ต้องหมุนโฟกัสเอง บางทีในสถานการณ์อย่างต้องเชิดสิงโตถ่าย เร่ง ๆ ถ่าย ต้องได้ภาพ มันไม่มีเวลาที่เราจะนั่งมอง แค่แตะหน้าจอกล้องก็โฟกัสเข้าที่ใบหน้า เข้าที่ตาคนที่เราถ่ายเลย บางทีถ่ายย้อนแสง มันมองจอไม่ถนัด โฟกัสเราก็ไม่รู้ว่าเข้าหรือไม่เข้า เราแตะหน้าจอให้มันขึ้นกรอบว่ากำลังจับโฟกัสที่หน้า จับที่ตาไปเลย มันดีกว่าที่เรามาหมุนโฟกัสเอง เพราะบางทีโฟกัสมันหลุดไปแล้วมันหลุดเลย”

 

ส่วนเรื่องความสะดวกคล่องตัวในการใช้งานนั้น คุณกฤษณ์ตอบว่า “ตอนเอาไปใช้งานผมใช้แบตเตอรี่ขนาดเล็กที่มากับกล้อง ไม่ได้ใช้แบตใหญ่ ผมเอาไปถ่ายในรัฐสภาบนชั้นลอย ถ่ายในห้อง แบตมันก็อยู่ได้นานเป็นชั่วโมง กับงานที่แบบต่อเนื่องยาว ๆ แบตมันเอาอยู่ และเมื่อเราถามถึงเรื่องเลนส์ที่ใช้ในกล้อง XF605 ว่าใช้งานดีเพียงใดกับงานข่าว คุณกฤษณ์ตอบว่า “ช่วงเลนส์มันเพียงพอสำหรับงานข่าว ผมวัดเอาจากการถ่ายประชุมที่รัฐสภาถ้าถ่ายจากจุดที่ผมอยู่ไปจนถึงประธานรัฐสภาได้ก็โอเคแล้ว ครอบคลุมและคมชัดดี สีของหน้าจอ LCD ก็ตรงกับไฟล์ดี ผมใช้กล้องมาหลายยี่ห้อ บางยี่ห้อก็สีอ่อน ๆ อมเหลือง บางยี่ห้อก็คม ๆ เข้มๆ แต่ XF605 ให้สีนวลๆ แต่ไม่จืด ไม่เพี้ยน ส่วนฟังก์ชันทัชสกรีนหน้าจอผมได้ใช้บ่อย ในการเลือกจุดโฟกัส ในการปรับไวท์บาลานซ์เพื่อให้ได้สีอย่างที่ต้องการ”

 

 

เราถามเรื่องการบันทึกที่ใช้กับงานข่าวของเขานั้น ใช้ไฟล์อะไร ความละเอียดเท่าใด  คุณกฤษณ์ตอบว่า “กับงานข่าวนั้น ผมจะบันทึกเป็นไฟล์ MP4 เมื่อใช้กล้องรุ่นนี้จะบันทึกสองการ์ด การ์ดหลักตั้งคุณภาพค่อนข้างสูงสำหรับใช้กับงานตัดต่อของสถานี แต่เวลาส่งภาพจะใช้การ์ดสองที่ตั้งเป็น Proxy เพื่อให้ส่งภาพได้เร็ว เพราะทุกวันนี้งานข่าวมันต้องแข่งกันเรื่องความเร็ว ถ้าช้าเขาอาจใช้ภาพจากมือถือของนักข่าวที่ไปกับเราแทน ผมต้องส่งภาพ Proxy ความละเอียดระดับ Full HD เข้าไปตัดไว้ก่อนโดยดึงภาพลงมือถือแล้วส่งผ่าน Google Drive  ส่วนภาพที่ละเอียดกว่าก็จะส่งการ์ดตามเข้าไปตอนเลิกงาน แต่จริงๆ แล้วถ้าด่วนๆ Proxy ก็พอแล้ว สามารถใช้ On air ได้เลย และกล้องรุ่นนี้สามารถส่งโดยตรงจากกล้องได้”

 

และสุดท้ายของการพูดคุย เราถามความรู้สึกของคุณกฤษณ์เกี่ยวกับกล้อง XF605 ว่าใช้แล้วเป็นอย่างไร  คุณกฤษณ์ตอบว่า “จุดที่ผมชอบกล้องรุ่นนี้คือจอทัชสกรีนที่ใช้ง่าย เข้าระบบต่างๆ ได้ง่าย ระบบต่างๆ วางไว้รวมๆกันที่เดียว ไม่แยกกระจัดกระจาย มีประโยชน์มากตอนตั้งขาตั้งมุมสูง มันกดใช้สะดวก อีกเรื่องคือ น้ำหนักกล้องกำลังดี ไม่เบาเกิน ไม่หนักเกิน เมื่อติดไฟหัวกล้องบาลานซ์ยังดี และที่ชอบอีกเรื่องคือช่องใส่การ์ด 2 ช่องที่ปรับตั้งการบันทึกแต่ละช่องได้หลายอย่าง บันทึก Proxy ได้สะดวก

 

และนี่คือประสบการณ์ในการใช้งานกล้อง Canon XF605 จากมืออาชีพในสายงานข่าวที่ผ่านกล้องมามากมาย ซึ่ง XF605 ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงการออกแบบที่รองรับการใช้งานของมืออาชีพได้เป็นอย่างดี 

 

 

ฟีเจอร์เด่นของกล้อง XF605: 

  • กล้องถ่ายวิดีโอ 4K ระดับพรีเมียมให้ภาพคุณภาพสูง และเซนเซอร์ภาพ 4K UHD CMOS ขนาด 1 นิ้ว
  • ขนาดกะทัดรัดและนํ้าหนักเบาเพียง 2.01 กก. พร้อมด้วยวงแหวนควบคุม 3 วงที่เลนส์
  • ระบบออโตโฟกัส Dual Pixel CMOS AF X EOS iTR AF X รุ่นใหม่ พร้อมตรวจจับและการติดตามดวงตา 
  • เลนส์ซูมมุมกว้างในตระกูล L ของแคนนอน ซูมออปติคอลได้ 15 เท่า พร้อมระบบป้องกันภาพสั่นไหวแบบออปติคอล
  • บันทึกวิดีโอ 4K 4:2:2 10 bit ไฟล์ฟอร์แมต XF-AVC และ MP4
  • Canon Log3 และ HDR
  • รองรับการบันทึกแบบ 4K ALL-I ที่มีการบีบอัดน้อยกว่า
  • ขั้วต่อสำหรับเอาต์พุต 12G-SDI สำหรับเอาต์พุตวิดีโอ 4K คุณภาพสูง
  • รองรับ XC Protocol
  • หน้าจอใช้งานระบบสัมผัส (Touch-screen User Interface) เข้าระบบสำคัญได้จากหน้าจอ

หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ XF605 ได้ที่ https://bit.ly/CMTTHXF605